TASCO-TIPCO ทรุดหนักยาว CBG-OSP เหนื่อย ล็อกดาวน์ย่างกุ้ง

HoonSmart.com>> หุ้นเล่นยากขึ้น ไทยร่วงสวนทางตปท. เจอปัจจัยลบคาดไม่ถึง แม่ลูก TASCO-TIPCO ฟลอร์สนิท เสี่ยงสหรัฐคว่ำบาตรจากการซื้อน้ำมันเวเนซูเอลา ประกาศปิดโรงกลั่นมาเลเซีย นักเคราะห์ยันชี้แจงไม่ชัดเจน แนะหลีกเลี่ยง ผลกระทบหนักลากยาว หากหยุดผลิตทั้งปีหน้า กำไรหายวับ บล.โนมูระฯคาดหดตัว 20-40% บล.ฟินันเซียฯประเมิน 20-30% บล.หยวนต้าตีมูลค่าลดฮวบ 12-15 บาทจากเป้า 31 บาท ส่วนการล็อกดาวน์ย่างกุ้ง เมียนมาร์ กดดันหุ้น CBG-OSP-MEGA-SEAFCO  ราคาถั่วเหลืองเพิ่ม หนุน TVO

วันที่ 14 ก.ย. 2563 หุ้นไทยปักหัวลง -7.62 จุดหรือ -0.60% ปิดที่ 1,272.34 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 40,463 ล้านบาท สวนทางหุ้นสหรัฐ ตลาดเอเชียส่วนใหญ่  ดาวโจนส์ล่วงหน้าเพิ่มขึ้น จากพัฒนาการของวัคซีนโควิด-19 ผ่อนคลายขึ้นหลัง AstraZeneca กลับมาทดสอบระยะที่ 3 อีกครั้งและ CEO Pfizer คาดว่าจะได้วัคซีนใช้งานภายในสิ้นปีนี้ แรงขายมาจากสถาบันไทย 1,614 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนในประเทศซื้อ 620 ล้านบาท ต่างชาติซื้อด้วย 526 ล้านบาทและบัญชีบล.ซื้อ 466 ล้านบาท

นักวิเคราะห์ระบุว่า สาเหตุที่หุ้นไทยปรับตัวลงแรง เพราะปัจจัยในประเทศ นักลงทุนกังวลหลายเรื่อง ทั้งการชุมนุมวันที่ 19 ก.ย. ที่จะถึงนี้ งบประมาณปี 2564 ล่าช้า เศรษฐกิจตกต่ำ และบริษัทจดทะเบียนบางแห่งยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศอย่างคาดไม่ถึง เช่น บริษัท ทิปโก้ แอสฟัล์ (TASCO) ดิ่งลงฟลอร์ทันทีที่เปิดตลาดและปิดที่ 20.40 บาท -3.50 บาท หรือ -14.64% มูลค่าการซื้อขาย 132.68 ล้านบาท หลังประกาศปิดโรงกลั่น Kemaman ในประเทศมาเลเซียชั่วคราว หลังหยุดซื้อน้ำมันจากเวเนซูเอลาตั้งแต่เดือนพ.ย.นี้เป็นต้นไป  เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกา ลากผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บริษัททิปโก้ฟูดส์ (TIPCO) ดิ่งลงฟลอร์ด้วยปิดที่ 6.20 บาท -1.05 บาทหรือ-14.48%ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้การล็อกดาวน์ในบางเมือง บางประเทศ เพื่อสกัดการระบาดของโควิด-19 ก็กดดันหุ้นหลายตัว เช่น บริษัท คาราบาวกรุ๊ป (CBG) ดิ่งลงไปต่ำที่สุด 107 บาท ก่อนเด้งขึ้นมา ปิดที่ 110 บาท ร่วง 3.08% หรือ 3.50 บาท บริษัท โอสถสภา (OSP) ปรับตัวลง -2.61% หรือ 1 บาทปิดที่ 37.25 บาท โดยบล.กสิกรไทยระบุว่า รัฐบาลเมียนมาประกาศล็อกดาวน์เมืองย่างกุ้ง พร้อมทั้งระงับบริการเที่ยวบินพาณิชย์ทุกเส้นทางในประเทศไปจนถึงวันที่ 1 ต.ค.2563 อาจกระทบบริษัทที่ทำธุรกิจในเมียนมา ได้แก่ บริษัทโอสถสภา ,บริษัทคาราบาวกรุ๊ป ,บริษัทเมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ (MEGA), บริษัทซีฟโก้ (SEAFCO) เป็นต้น

อย่างไรก็ตามตลาดมีปัจจัยบวกจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้นรับเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัว เช่น ถั่วเหลือง ส่งผลดีต่อหุ้นบริษัทน้ำมันพืชไทย (TVO) ในการจำหน่ายกากถั่วเหลืองสำหรับผลิตอาหารสัตว์

นักวิเคราะห์ประสานเสียงมอง “ลบ” ต่อ TASCO  หากบริษัทไม่สามารถหาแหล่งน้ำมันดิบจากที่อื่นมาชดเชยได้ เนื่องจากโรงกลั่นดังกล่าวถูกออกแบบเพื่อการกลั่นน้ำมันดิบชนิดหนัก นับตั้งแต่โรงกลั่นเริ่มดำเนินการในปี 2550 มาจากประเทศเวเนซูเอลเป็นหลัก ซึ่งสูงถึง 90% ของน้ำมันดิบที่ใช้ทั้งหมด

จากการจัดประชุมนักวิเคราะห์ 14 ก.ย. บล.โนมูระ พัฒนสิน มองว่าแนวทางหาแหล่งวัตถุดิบทดแทนน้ำมันเวเนซูเอลาไม่ชัดเจน ทั้งปริมาณและแหล่งทดแทน คาดใช้เวลานาน เป็นความเสี่ยงระยะกลาง-ระยะยาว เตรียมปรับประมาณการลง 20-40% และยังไม่แนะนำ เข้าลงทุน แม้ราคาจะปรับลงมาแรง

บริษัทได้รับผลกระทบระยะสั้น ปริมาณขาย  ราว 7 แสนตันคิดเป็นประมาณ 30-35% ของปริมาณขายทั้งหมด ซึ่งเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 1/2564 จากการมีน้ำมันดิบเหลือผลิตยางมะตอยถึงไตรมาส 1/2564 ทั้งนี้โรงกลั่นดังกล่าวถูกออกแบบให้ใช้สำหรับน้ำมันดิบจากประเทศเวเนซูเอลเป็นหลัก สูงถึง 90% ของน้ำมันดิบที่ใช้ทั้งหมด

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) แนะเชิงกลยุทธ์ หลีกเลี่ยงการลงทุนไปก่อน เพราะ 50% ของยอดขายในแต่ละปี มาจากปริมาณยางมะตอยโรงกลั่นในมาเลเซีย คาดว่าจะระทบการผลิตและประมาณการกำไรจากการดำเนินงานในปีนี้ราว 10-20% ส่วนในปี2564 จะกระทบมากกว่านี้ถ้าต้องปิดโรงกลั่นตลอดปี อย่างไรก็ดีหากบริษัทสามารถซื้อน้ำมันดิบชนิดหนักจากแหล่งอื่นมาทดแทนก็จะกระทบน้อยลง แต่มาร์จิ้นก็คาดว่าจะต่ำลงจากการซื้อน้ำมันจากเวเนซูเอลาที่บริษัททำสัญญาซื้อไว้ในราคาถูก ทั้งนี้รายได้จากเทรดดิ้ง 40% ของรายได้รวม และอีก 60% เป็นส่วนยอดขายจากโรงกลั่น

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองเป็นฝันร้ายที่เป็นจริงของ TASCO เพราะ 50% ของปริมาณการขายยางมะตอยราว 2.0 – 2.2 ล้านตันต่อปีมาจากผลผลิตน้ำมันดิบจากประเทศเวเนซูเอล่า กายกเลิกทำให้บริษัทขาดแคลนสินค้าในการจำหน่ายและแม้จะมีแหล่งน้ำมันดิบจากที่อื่นมาชดเชย แต่อาจทำให้บริษัทต้องเจอต้นทุนน้ำมันดิบที่สูงกว่าและให้ผลผลิตยางมะตอยไม่มากเท่าแหล่งน้ำมันดิบที่มาจากประเทศเวเนซูเอลาที่สูงถึง 70% คาดกำไรปกติปี 2563 ได้รับผลกระทบอย่างจำกัด   ขณะที่กำไรปกติปี 2564 อาจกระทบมากสุดถึง 40 – 50% อยู่ที่ 1.5 – 1.8 พันล้านบาท หากโรงกลั่นในมาเลเซียต้องหยุดดำเนินการทั้งปี ส่งผลกระทบต่อราคาเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2564 จากปัจจุบันที่ 31 บาทต่อหุ้น ลดลงราว 12 – 15 บาทต่อหุ้น

อย่างไรก็ตามหากบริษัทสามารถหาแหล่งน้ำมันดิบมาชดเชยน้ำมันดิบจากประเทศเวเนซูเอลาได้ราว 50% จะทำให้กำไรปกติปี 2564 อยู่ระหว่าง  2,200-2,500 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อราคาเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2564 จากปัจจุบันที่ 31 บาทต่อหุ้น ลดลงราว 5 – 8 บาทต่อหุ้น

บล.ฟินันเซีย ไซรัส คาด TASCO ประกาศปิดโรงกลั่นที่มาเลเซีย (กำลังผลิต 3 หมื่นตันต่อวัน) ผลกระทบในปีนี้จำกัดราว 1-2% เพราะบริษัทมีน้ำมันพอใช้ถึงเดือน ต.ค.-พ.ย.  แต่ปี 2564 คาดกระทบยอดขายราว 50-60% (ครึ่งหนึ่งของยางมะตอยที่ขายผลิตจากโรงกลั่นนี้) และกระทบกำไร 20-30% หรือ 0.44-0.63 บาท/หุ้น