HoonSmart.com>>ก.ล.ต.-ตลาดหลักทรัพย์ฯ-สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ เตรียมหารือพิจารณาปรับค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้น ลดอุปสรรคของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ หลังรายได้ลดลง จากค่าคอมมิชัชชั่นที่ต่ำ และยังช่วยลูกค้าในช่วงโควิด สวนทางปริมาณการซื้อ-ขายหุ้นสูงขึ้น รวมถึงสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีนโยบายรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน โดยจัดประชุมร่วมกับสมาคมต่าง ๆ เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในวันที่ 25 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้จัดประชุมรายไตรมาสกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ซึ่งสมาคมฯได้นำเสนอข้อมูลสถานการณ์การประกอบธุรกิจโบรกเกอร์ของบริษัทหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และประเด็นที่เกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม (ค่าคอมมิชชั่น)ที่เกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
“แม้ปริมาณการซื้อขายจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ค่าคอมมิชชั่นที่เรียกเก็บจากผู้ลงทุนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ลดค่าคอมมิชชั่นให้แก่ลูกค้า ส่งผลให้รายได้ของโบรกเกอร์ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น จึงขอให้ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พิจารณาทบทวนลดค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่เก็บจากบริษัทหลักทรัพย์”
ด้านนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯเตรียมเข้าหารือกับสำนักงานก.ล.ต.พิจารณาการเก็บค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้น หลังที่ผ่านมามีข้อเรียกร้องจากผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้พิจารณาทบทวนอัตราการเรียกเก็บในปัจจุบัน ประเด็นนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯมองว่าต้องมาศึกษาและต้องดูความเหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง อาทิ โบรกเกอร์
ด้านนายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯ อยากให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วยพิจารณาปรับลดการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมของการซื้อขายหุ้น ที่โบรกเกอร์ต้องนำส่งให้กับทาง ตลท. เพื่อความสมดุลของระบบ ปัจจุบันปริมาณการซื้อขายโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น แต่รายได้ของผู้ประกอบการโบรกเกอร์ลดลง เนื่องจากคอมมิชชั่นลดลง จากธุรกิจมีการเปิดเสรีด้านการเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นจากลูกค้า ทำให้มีการแข่งขันกันสูง รวมถึงโบรกเกอร์มีต้นทุนค่าธรรมเนียมการเทรดที่นำส่งให้กับตลาดหลักทรัพย์ฯในระดับที่สูง
“สมาคมโบรกฯยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องตัวเลขให้กับตลาดหลักทรัพย์ว่าควรจะเรียกเก็บในอัตราที่ลดลงเท่าไร ” นายพิเชษฐ กล่าว
ด้านสำนักงานก.ล.ต. เปิดเผยว่า เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันของตลาดทุนไทย ก.ล.ต. ไม่มีแผนที่จะเพิ่มอัตราการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจากโบรกเกอร์ ซึ่งปัจจุบันเรียกเก็บจากการซื้อขายหลักทรัพย์ ในอัตรา 0.001% ของมูลค่าการซื้อขาย และสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท สำหรับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 0.01% และ 0.10 บาทต่อสัญญา ขึ้นอยู่กับราคาหลักทรัพย์อ้างอิง ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2560 และเป็นอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมในต่างประเทศ
สำหรับค่าธรรมเนียมการซื้อขายในส่วนที่ตลาดหลักทรัพย์เรียกเก็บเพื่อเป็นค่าบริการซื้อขาย (Trading Fee) อยู่ที่อัตรา 0.005% ของมูลค่าการซื้อขาย และค่าการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ (Clearing Fee) อยู่ที่อัตรา 0.001% ของมูลค่าการซื้อขาย รวมทั้งค่าธรรมเนียมการรักษาหลักทรัพย์ในบัญชีหลักทรัพย์ 1.50 บาทต่อเดือนต่อมูลค่าหลักทรัพย์คงเหลือทุกจำนวน 1 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ในส่วนค่าธรรมเนียมที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เรียกเก็บจากโบรกเกอร์เป็นเรื่องทางธุรกิจระหว่างตลาดหลักทรัพย์กับโบรกเกอร์สมาชิก ซึ่ง ก.ล.ต. ไม่ได้เป็นผู้กำหนด
ส่วนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) หรือ TFEX ก.ล.ต. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจรายปี เพื่อให้สอดคล้องกับภาระและต้นทุนการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ซึ่งแปรผันตามปริมาณธุรกรรมการซื้อขายในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นมากจากในอดีต และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของตลาดทุน
ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจาก TFEX เป็นอัตรา 0.05 บาทต่อสัญญาและมีอัตราขั้นต่ำ 2 ล้านบาท ทั้งนี้ ตั้งแต่ TFEX ได้จัดตั้งขึ้นในปี 2547 ก.ล.ต. ไม่ได้มีการเก็บค่าธรรมเนียมจาก TFEX เพื่อส่งเสริมการซื้อขายในตลาด จนได้เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมในปี 2554 ซึ่งโบรกเกอร์เห็นว่า เป็นอัตราที่สูงและขอให้ปรับลดลง เนื่องจากจะทำให้เกิดการส่งผ่านค่าใช้จ่ายดังกล่าวจาก TFEX ไปยังโบรกเกอร์และต่อไปยังผู้ลงทุน
ขณะนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างดำเนินการทบทวนค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจาก TFEX เพื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุน ในขณะเดียวกันก็ไม่เป็นภาระแก่ผู้เกี่ยวข้องเกินสมควร และจะยกประเด็นที่โบรกเกอร์มีข้อเสนอเรื่องค่าธรรมเนียมการซื้อขายไปหารือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป