HoonSmart.com>>ในปี 2563 ตลาดหุ้นสหรัฐสร้างสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา เริ่มมีแรงทิ้งหุ้นเทคโนโลยีออกมาอย่างหนักหน่วง ฉุดให้ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงแรงกว่า 800 จุด และยังมีแรงขายออกมาอีกระลอก รวม 2 วัน ดัชนี Nasdaq ทรุดหนักถึง -10% ดัชนี S&P 500 ลดฮวบ -6% และดัชนีดาวโจนส์ลดลง -5% ส่งผลให้ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลงกันถ้วนหน้ามากกว่า 1% เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นับว่าเป็นโชคดีของตลาดหุ้นไทยที่ปิดทำการ ทำให้นักลงทุนมีเวลาตั้งสติ ซึ่งก็หวังว่าเมื่อเปิดการซื้อขายในวันที่ 8 ก.ย.นี้ คงจะมีแรงขายออกมาไม่มากนัก แต่จะพุ่งเป้าไปที่หุ้นกลุ่มใด?
นักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐเลือกเทกระจาดหุ้นเทคโนโลยีทำกำไร หลังจากราคาปรับตัวขึ้นมามาก เชื่อว่าในส่วนของตลาดหุ้นไทยก็ต้องเลือกขายตัวที่ราคาขึ้นมาสูงมากเช่นเดียวกัน
หากเทียบเคียงนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 1 ก.ย. 2563 ดัชนีหุ้นไทย (SET) ลดลง 17% แต่มีหุ้นเพียง 5 หมวดธุรกิจที่สามารถปรับขึ้นเป็นบวก นำโดย 1.อิเล็กทรอกนิกส์ พุ่งแรงที่สุด +63.27% 2.กระดาษและวัสดุการพิมพ์ +51.58% 3.เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร +48.44% 4.บรรจุภัณฑ์ +33.41% และ5.ของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน +3.19%
ทั้งนี้หมวดอิเล็กทรอนิกส์ มีหุ้นทั้งหมด 10 บริษัท พบว่า 7 ตัว ราคาปรับตัวขึ้นจากสิ้นปีก่อน ทั้งบริษัทขนาดใหญ่และขนาดเล็ก โดยเฉพาะ DELTA -บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) พุ่งขึ้น 123% ปิดที่ 119.50 บาท เทียบกับระดับ 53.50 บาท ซึ่งมีมาร์เก็ตแคปเกือบ 1.5 แสนล้านบาทย่อมมีน้ำหนักต่อการคำนวณดัชนีกลุ่มสูงที่สุด
ส่วนบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) และบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส (HANA) ปรับตัวขึ้น 21% และเกือบ 20% เท่านั้น สำหรับบริษัทวาว แฟคเตอร์(W) กระโดดขึ้นมากที่สุด 300%
” หุ้นอิเล็กทรอกนิกส์เป็นหุ้นเด่นในปีนี้ ด้วยผลงานดีเกินคาดของ DELTA ไตรมาส 2 กำไรสูงถึง 2,021 ล้านบาท และความคาดหวังว่า KCE จะดีขึ้นจากความต้องการรถยนต์ รวมถึงธุรกิจยังได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อน แต่ราคาหุ้นไม่ถือว่าถูก หากเปรียบเทียบกับเป้าหมายของนักวิเคราะห์ให้ไว้ เช่น DELTA ปิดที่ 119.50 บาท ราคาเป้าหมายเฉลี่ยอยู่ที่ 108.2 บาท และราคากลางที่ระดับ 114.50 บาท ส่วน HANA และ KCE ขึ้นมาใกล้เคียงกับราคาเป้าหมายแล้ว”
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ต่างประเทศคาดว่าแรงขายหุ้นเทคโนโลยีในตลาดหุ้นสหรัฐ เป็นเพียงการทำกำไรเท่านั้น ยังไม่ทิ้งตลาดหุ้น เพราะสภาพคล่องที่สูงมากจากการอัดฉีดเงินของธนาคารกลางของทุกประเทศ จึงเห็นการสลับซื้อหุ้นที่ราคายังปรับตัวขึ้นน้อย เช่น การเงิน ซึ่งสอดคล้องกับตลาดหุ้นไทย ในปีนี้ดัชนีหมวดธนาคารพาณิชย์ ลดลงมากที่สุดถึง -38.94% ตามด้วยอสังหาริมทรัพย์ -24.63% สื่อและสิ่งพิมพ์ -23.51%
ปัจจุบันหุ้นแบงก์ทั้งหมด ราคาต่ำ ซื้อขาย P/E ไม่ถึง 9 เท่า และต่ำกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชี (P/BV) ยกเว้น บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) เทรดที่ P/BV ระดับ 1.47 เท่า โดยธนาคารกรุงไทย (KTB) ต่ำที่สุด 0.39 เท่า ธนาคารทหารไทย (TMB) 0.45 เท่า และ ธนาคารกรุงเทพ(BBL) 0.46 เท่า แต่กลุ่มแบงก์ยังไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุนเท่าไร เพราะผลกำไรจะยังไม่ดีตามภาวะเศรษฐกิจแถมมีความเสี่ยงหนี้เสียสูง
นอกจากหุ้นสหรัฐจะปรับตัวลงแรงแล้ว ราคาน้ำมันดิบก็ลดลงมากเช่นกัน คาดว่าจะชะลอตัวถึงปี 2564 รัฐมนตรีพลังงานรัสเซียคาดราคาจะเคลื่อนไหวระหว่าง 50-55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และโกลแมนแซค์ คาดเป้าหมาย 65 ดอลลาร์ในไตรมาส 3/2564 ทำให้หุ้นกลุ่มพลังงาน ทั้งน้ำมันและปิโตรเคมีปรับตัวขึ้นน้อยกว่าตลาด นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 1 ก.ย. ดัชนีหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -22.04%
ดังนั้นในภาวะตลาดหุ้นกำลังเผชิญแรงทิ้งทำกำไร ต่างชาติขายไม่หมดสักที นักลงทุนอย่าตกใจทิ้งตาม ควรจะอาศัยจังหวะนี้ทยอยเลือกหุ้นเกรดดีเข้าพอร์ต เชื่อว่าจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าทั้งส่วนต่างราคาหุ้นและปันผล!!