ดาวโจนส์ดิ่ง 800 จุด ทำกำไรกลุ่มเทคโนโลยี ข้อมูลศก.อ่อนแอ

HoonSmart.com>>ดาวโจนส์ปิดร่วง 800 จุด หรือ 2.8% Nasdaq ดิ่ง -5% ทำกำไรกลุ่มเทคโนโลยี สินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มบริการสื่อสาร ผสมความกังวลมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ยังไม่ออกมา นักลงทุนรอตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่จะเผยแพร่ในวันศุกร์นี้  หุ้นยุโรปติดลบ  ราคาน้ำมันลดลง

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) ปิดตลาดวันที่ 3 กันยายน 2563 ที่ 28,292.73 จุด ลดลง 807.77 จุด หรือ 2.8% จากแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มอื่นที่ปรับตัวขึ้นมาก่อนหน้านี้ หลังจากวันก่อนหน้าดัชนี DJIA ปิดที่ระดับ 29,000 จุด ดัชนีS&P 500 ทำสถิติสูงสุดเป็นครั้งที่ 22 ของปีและดัชนี Nasdaq แตะระดับ all-time high เป็นครั้งที่ 43

ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 3,455.06 จุด ลดลง 125.78 จุด, -3.5%

ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,458.10 จุด ลดลง 598.34 จุด, -5%

นักวิเคราะห์จาก อินดิเพนเดนท์ แอดไวเซอร์ อัลลิอันซ์ ระบุว่า ไม่มีปัจจัยเฉพาะที่เป็นตัวเร่ง แต่นักลงทุนเทขายทำกำไร ในหุ้นกลุ่มที่ได้รับความนิยมมาระยะหนึ่งทั้ง เทคโนโลยี สินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มบริการสื่อสาร ซึ่งถูกเทขายมากที่สุด แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่ากลุ่มเทคโนโลยีเกิดภาวะปรับฐาน และปัจจัยพื้นฐานด้านโครงสร้างยังหนุนกลุ่มเทคโนโลยี อีกทั้งการขายยังมาจากการเปลี่ยนกลุ่มเล่นของนักลงทุน

หุ้นเฟซบุ๊ก ลดลง 3.8% หลังประกาศห้ามการโฆษณาทางการเมืองในสัปดาห์ก่อนหน้าวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 3 พ.ย.2563

หุ้นอัลฟาเบทลดลง 5% จากรายงานที่ว่า กระทรวงยุติธรรมอาจดำเนินคดีต่อต้านการผูกขาดตลาดกับบริษัทในเดือนนี้

หุ้นแอปเปิลลดลง 8%

ปัจจัยที่มีผลต่อตลาด คือความกังวลต่อการเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่จากสภาคองเกรสว่าจะไม่สามารถออกมาได้ในปลายเดือนนี้ เพราะพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันยังมีความเห็นไม่ตรงกันในหลายประเด็น

นอกจากนี้ข้อมูลเศรษฐกิจยังบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า และแนวโน้มตลาดแรงงานยังมีความไม่แน่นอน นักลงทุนรอตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่จะเผยแพร่ในวันศุกร์นี้

กระทรวงแรงงานเผยข้อมูลการยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้วมีจำนวน 881,000 ราย สูงกว่า 940,000 ราย ที่นักวิเคราะห์คาด จาก 1.011 ล้านรายในสัปดาห์ก่อนหน้า ส่งผลจำนวนคนที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลงสู่ระดับ 13.254 ล้านราย

กระทรวงพาณิชย์เผยการขาดดุลการค้าเดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 18.9% เป็น 63.6 พันล้านดอลลาร์ สูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2008 และสูงกว่า 58 พันล้านดอลลาร์ที่นักวิเคราะห์คาด โดยการส่งออกเพิ่มขึ้น 8.1% มีมูลค่า 168.1 พันล้านดอลลาร์ การนำเข้าเพิ่มขึ้น 10.9% มีมูลค่า 231.7 พันล้านดอลลาร์

สถาบันจัดการด้านอุปทาน(ISM) เผยผลสำรวจว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI)ภาคบริการเดือนส.ค.ลดลงมาที่ระดับ 56.9 จากระดับ 58.1 ในเดือนก.ค. แต่ผลสำรวจของไอเอชเอส มาร์กิต พบว่า ดัชนี PMI ภาคบริการ เพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 55.0 ข้อมูลเศรษฐกิจทั้งหมดบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจอ่อนตัวกว่าช่วงก่อนการระบาด

ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง นำโดยกลุ่มเทคโนโลยีที่ร่วงลง 4% ขณะนักลงทุนยังเกาะติดการเผยแพร่ข้อมูลเศรษฐกิจจากทั่วโลกต่อเนื่องจากเมื่อวานหลังจาก Caixin/Markit เผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนส.ค.ของจีนลดลงมาที่ 54.0 จาก 54.1 ในเดือนก่อน

ไอเอชเอส มาร์กิตเผย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ยูโรโซนเดือนส.ค.ลดลงมาที่ระดับ 51.9 จาก 54.9 ในเดือนก่อนแต่สูงกว่า 51.6 ที่นักวิเคราะห์คาด

ในเยอรมนี ดัชนี PMI ภาคบริการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 52.5 จาก 50.8 ในอังกฤษดัชนี PMI ภาคบริการเพิ่มขึ้นไปที่เหนือระดับ 50

ข้อมูลของภาคบริการจากสองฟากฝั่งแอตแลนติกสะท้อนว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวและอยู่บนเส้นทางที่จะกลับไปอยู่ในระดับเดิมก่อนการระบาด

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 366.08 จุด ลดลง 5.20 จุด , -1.40%

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,850.86 จุด ลดลง 90.09 จุด, -1.52%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,009.52 จุด ลดลง 22.22 จุด, -0.44%,

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,057.77 จุด ลดลง 185.66 จุด, -1.40%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนต.ค.ลดลง 14 เซนต์ปิดที่ 41.37 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 36 เซนต์ปิดที่ 44.07 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล