IRPC กำไรไตรมาส 2 รุ่ง สต็อกน้ำมันหนุน

‘ไออาร์พีซี” เติบโตระยะยาว ไตรมาส 2 กำไรสูงขึ้น ได้สต็อกน้ำมันช่วย ธุรกิจทรงตัว “สุกฤตย์” ยืนยันผลงานปีนี้สุงสุดเป็นประวัติการณ์ ปี 2563 เป็นปีทองของ IRPC

นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2561 จะดีกว่าไตรมาส 1 เพราะจะมีกำไรจากสต็อกน้ำมันกว่า 11 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
ขณะที่กำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ที่ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน จะใกล้เคียงระดับ 14.08 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาสแรก จากมาร์จิ้นโรงกลั่นอ่อนลง แต่มาร์จิ้นปิโตรเคมียังดีอยู่

“ไตรมาส 2 GIM จะใกล้เคียงกับไตรมาสแรก แต่ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น เดือนมิ.ย.มาอยู่ที่ 74.4 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับสิ้นไตรมาส 1 อยู่ที่ 62.7 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จะมีกำไรจากสต็อกเข้ามาช่วย “นายสุกฤตย์ กล่าว

สำหรับแนวโน้มผลงานทั้งปี 2561 นายสุกฤตย์มั่นใจว่ากำไรสุทธิจะมากกว่าปีที่แล้วและทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากไม่มีปิดซ่อมบำรุงโรงงาน ทำให้สามารถเดินเครื่องกลั่นน้ำมันได้เกิน 2.1 แสนบาร์เรล/วันสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากระดับ 1.8 แสนบาร์เรล/วันในปีที่แล้ว ขณะที่กำลังการกลั่นเต็มที่ อยู่ที่ 2.3 แสนบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 2.15 แสนบาร์เรล/วัน หลังจากได้ขยายกำลังการกลั่นช่วงปิดซ่อมบำรุงใหญ่

นอกจากนี้ ยังได้รับผลบวกเต็มที่จากโครงการที่แล้วเสร็จปลายปีที่ผ่านมา ทั้งการขยายกำลังการผลิตโพลีโพรพิลีน (PP) อีก 3 แสนตัน/ปี และโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี คลีน เพาเวอร์ ขนาด 240 เมกะวัตต์ รวมถึงโครงการติดตั้งหอกลั่น Max Gasoline Mode เพื่อปรับปรุงน้ำมันเบนซินที่ยังมีส่วนประกอบที่หลากหลาย จากเดิมจะต้องส่งออก จะนำบางส่วนมาแยกสารบางประเภทออกเพื่อให้สามารถนำน้ำมันเบนซินกลับมาขายในประเทศเพิ่มขึ้น รองรับการใช้เบนซินที่เติบโต ตลอดจนโครงการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถองค์กรในทุกด้านที่แล้วเสร็จทั้งหมดเมื่อปลายปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้บริษัทได้รับผลกระทบจากต้นทุนน้ำมันดิบที่สูงขึ้นราว 1.5 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลตั้งแต่ต้นปี ค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงสูงขึ้น น่าจะทำให้ Market GIM ทั้งปี 2561 ใกล้เคียงถึงอ่อนตัวลงเล็กน้อยจากปีก่อน เนื่องจากมาร์จิ้นโรงกลั่นลดลงส่วนหนึ่งจากต้นทุนที่สูงขึ้น

“ผมยังคงเชื่อมั่นว่าในปี 2563 จะเป็นปีที่ดีที่สุดของบริษัท โดยตั้งเป้าจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี ,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่มากกว่าระดับ 2.9 หมื่นล้านบาท จากราว 2 หมื่นล้านบาทในปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) มีมติให้จำกัดกำมะถันในน้ำมันเตาของเรือเดินสมุทรไม่เกิน 0.5% จากระดับ 3.5% ในปัจจุบัน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันของ IRPC ปัจจุบันผลิตน้ำมันเตาได้ไม่มากนักราว 3-4% แต่สามารถผลิตน้ำมันเตาที่มีกำมะถันต่ำได้ เพราะมีหน่วยกำจัดกำมะถันในเรสซิดิว นับเป็นโรงกลั่นเดียวในประเทศที่สามารถดำเนินการได้ “นายสุกฤตยกล่าว

นอกจากนั้น ผู้ประกอบการอาจนำน้ำมันดีเซลมาผสมกับน้ำมันเตาเพื่อให้ได้กำมะถันต่ำนั้น จะทำให้ความต้องการน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งคาดการณ์ว่าส่วนต่างระหว่างน้ำมันดีเซลและน้ำมันดิบจะสูงขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบัน ก็จะส่งผลให้โรงกลั่นที่ผลิตน้ำมันดีเซลในปริมาณมากได้รับประโยชน์ ซึ่งโรงกลั่นน้ำมันของ IRPC สามารถผลิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานราว 60% ของการผลิตน้ำมันทั้งหมด

ส่วนความคืบหน้าการทำดีลซื้อกิจการหรือร่วมลงทุน (M&A) นั้นคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในการเข้าซื้อกิจการที่เกี่ยวเนื่องภายในประเทศได้อย่างน้อย 1 ดีล ในช่วงไตรมาส 3 จากที่กำลังเจรจาอยู่ 2-3 ดีล

สำหรับเงินที่จะใช้ลงทุนในอนาคตนั้น ปัจจุบันมีศักยภาพลงทุนในช่วง 5 ปีได้ประมาณ 1 แสนล้านบาท หรือกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะมาจากเงินสดที่จะมาจากการดำเนินงานราว 1 หมื่นล้านบาท/ปี และศักยภาพในการกู้เงินอีกราว 1 หมื่นล้านบาท/ปี บริษัทมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำที่ระดับ 0.56 เท่าเมื่อสิ้นไตรมาส 1 ในส่วนนี้ประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใช้ลงทุนในโครงการ MARS เพื่อสร้างโรงงานอะโรเมติกส์ ส่วนอีก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐในการทำดีล M&A ส่วนที่เหลืออีก 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำรองไว้ลงทุนในอนาคต

นายสุกฤตย์ กล่าวถึงการร่วมลงทุนทำนิคมอุตสาหกรรมร่วมกับกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ในอ.บ้านค่าย จ.ระยองนั้น WHA เป็นผู้พัฒนาพื้นที่ที่บริษัทเป็นคนขายที่ดินประมาณ 2,000 ไร่ คาดว่าจะต้องใช้เวลา 2-3 ปีกว่าจะเริ่มเปิดขายพื้นที่ในนิคมฯดังกล่าวได้ และในพื้นที่ที่ตั้งโรงงานในปัจจุบันที่อ.เชิงเนิน จ.ระยองนั้น ยังมีพื้นที่เหลือประมาณ 1,000 ไร่ ในส่วนนี้ 200 ไร่สำรองไว้สำหรับดำเนินโครงการ MARS ส่วนที่เหลืออีก 700-800 ไร่จะสำรองไว้รองรับการลงทุนขนาดใหญ่ของกลุ่มบริษัทปตท. (PTT) ในอนาคต

ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/2561 บริษัทฯมีกำไรสุทธิ 2,750 ล้านบาท มี Market GIM ที่ระดับ 14.08 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มทางบัญชี (Accounting GIM) ซึ่งรวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน อยู่ที่ระดับ 14.42 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ส่วนทั้งปี 2560 มีกำไรสุทธิ 1.14 หมื่นล้านบาท Market GIM ที่ 14.48 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และ Accounting GIM ระดับ 15.49 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล