หุ้นดิ่ง-บาทอ่อน ตื่นรมว.คลังลาออก เทกระจาดแบงก์ใหญ่ ผวา NPLs ปูด

HoonSmart.com>> ตลาดหุ้น-ตลาดเงินปั่นปรวน “ปรีดี ดาวฉาย”รมว.คลัง รีบลาออก หลังจากเข้ามารับตำแหน่งไม่ถึงหนึ่งเดือน หุ้นร่วงเฉียด 10 จุด เกือบหลุด 1,300 จุด ต่างชาติขายเพียง 1,490 ล้านบาท ด้านเงินบาทพลิกจากแข็งค่ากลับมาอ่อนลง นักวิเคราะห์คาดผลกระทบทำให้งานของรัฐบาลล่าช้า สั่นคลอนภาพรวมทีมเศรษฐกิจ ผสมแรงขายทิ้ง KBANK, BBL, SCB ธปท.เผยยอด NPLs รวม 3.09% สินเชื่อรายใหญ่ 2.46% จากธุรกิจการบิน บล.เอเซียพลัสเตือนให้ระวังหุ้นที่วิ่งเกินพื้นฐานไปมาก ยก CENTEL, HMPRO

ตลาดหุ้นวันที่ 1 ก.ย. 2563 ดัชนีปรับตัวลงแรงในช่วงบ่าย ไหลลงแตะต่ำสุด 1,301.14 จุด ก่อนปิดที่ 1,305.57 จุด -5.09 จุด หรือ -0.39% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 48,635 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายแค่ 1,490 ล้านบาท ลดลงจากในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ส่วนสถาบันขาย 1,361 ล้านบาท ด้านนักลงทุนในประเทศซื้อสุทธิ 2,818 ล้านบาท

ส่วนค่าเงินบาทระหว่างวันแข็งค่าแตะ 30.95 บาทต่อดอลลาร์ก่อนกลับมาปิดที่ 31.11 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดหุ้นไทยและค่าเงินบาทอ่อนตัวลงมากกว่าภูมิภาค หลังมีกระแสข่าวว่านายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลังยื่นหนังสือลาออก ดัชนีถลาลงลึกเกือบ 10 จุด แตะต่ำสุด 1,301.14 จุด จากแรงขายหุ้นขนาดใหญ่ออกมารุนแรง โดยเฉพาะหุ้นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ จากที่พยายามยืนในช่วงเช้า กลับมาทรุดลงหนักอย่างรวดเร็ว นำโดย KBANK ลงไปต่ำสุดที่ 82.25 บาท ก่อนปิดที่ 82.75 บาท -1.75 บาทหรือ 1.78% เช่นเดียวกับ BBL ปิดที่จุดต่ำสุด 104 บาท ร่วง 2.50 บาทหรือ 2.35% และ SCB ปิดที่ 71.75 บาท -0.75 บาทหรือ 1.03%

ด้านการลาออกของรมว.คลังได้รับการยืนยัน โดยราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องรัฐมนตรีลาออก ด้วยนายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง ขอลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย. 2563 ความเป็นรัฐมนตรีของนายปรีดี จึงสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย. 2563

บล.เอเซียพลัสวิเคราะห์ว่า การลาออกของรมว.คลัง ถือเป็น Sentiment เชิงลบต่อตลาดหุ้น คาดกระทบต่อความต่อเนื่องของการผลักดันมาตรการกระตุ้นการคลังในอนาคต ส่วนผลต่อค่าเงินบาท คาดว่าจะชะลอการแข็งค่า หรือมีแนวโน้มอ่อนค่าช่วงสั้น

บล.ทิสโก้ มองว่า รมว.คลังลาออก สะท้อนปัญหาภายใน คาดจะทำให้การผลักดันงานต่างๆของรัฐบาลมีความล่าช้า

บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ประเมินผลกระทบ สั่นคลอนภาพรวมทีมเศรษฐกิจ เป็นลบต่อภาพรวมของตลาดหุ้นในระยะต่อไป

สำหรับหุ้นแบงก์ใหญ่ที่ปรับตัวลงแรงในช่วงบ่าย นอกจากได้รับผลกระทบจากการลาออกของรมว.คลัง และส่วนหนึ่งเกิดจาก ธปท.มีการสรุปมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมด้วยวิธีการรวมหนี้ ถือว่ายากที่จะเกิดขึ้นได้สำหรับลูกหนี้ทั่วไป อาจจะทำให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพิ่มขึ้นหลังจากหมดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในเดือนต.ค.นี้

ธปท.ให้ข้อมูลปัจจุบัน NPLs รวมอยู่ที่ 3.09% แบ่งเป็น NPLs สินเชื่อธุรกิจ (รายใหญ่) 2.46% สินเชื่อ SMEs 6.31% และสินเชื่อรายย่อย 3.12% ทั้งนี้คุณภาพสินเชื่ออุปโภคและบริโภคทุกประเภท เช่นที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ บัตรเครดิต สินชื่อส่วนบุคคลทั้งที่มีหลักประกัน และไม่มีหลักประกันปรับตัวดีขึ้น จากผลของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการตัดหนี้สูญเพิ่มขึ้น ส่วน NPLs สินเชื่อธุรกิจปรับสูงขึ้นจากธุรกิจการบินขนาดใหญ่

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า หุ้นในเดือน ก.ย. มองกรอบดัชนีเคลื่อนไหว 1,270-1,385 จุด เลือกหุ้นเด่นที่มีปัจจัยเด่นเฉพาะตัว แนะนำ BEM ที่ราคาเหมาะสม 10 บาท ถ้าประมูลได้รถไฟฟ้าสายสีส้มราคามีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้อีก, CRC ที่ราคา 33.50 บาท ปริมาณคนเดินห้างเริ่มเพิ่มขึ้น และยอดขายช่องทางใหม่ Ommi Channel ที่เติบโตดีขึ้น , DCC ที่ราคา 3.10 บาท ปรับกลยุทธ์ขายตรง เติบโตดี ให้อัตราผลตอบแทนปันผลปี 63 เกือบ 6%, STGT ที่ราคา 100 บาท ยอดขายเติบโตดี คาดไตรมาส 3 แตะ 3,000 ล้านบาท ไตรมาส 4 ยอดขายที่มีการตีราคาไว้แล้วเพิ่มขึ้น, TFG ที่ราคา 6 บาท หุ้นในกลุ่มอาหารที่ปลอดภัย ช่วงบาทแข็ง และ SVI ที่ราคา 3.80 บาท คำสั่งซื้อชิ้นส่วนฟื้นตัวอย่างชัดเจน

ในทางตรงกันข้ามหุ้นที่ราคาเกินมูลค่าพื้นฐานไปมาก ต้องระมัดระวังในการซื้อขาย คือ CENTEL, HMPRO

ส่วนแนวโน้มดัชนีหุ้นในสิ้นปีนี้ บล.เอเซีย พลัส มองไว้ที่ 1,450 จุด คาดว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4  หากการควบคุมโควิด-19 ในประเทศไทยยังทำได้ดีต่อเนื่อง และสามารถเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจากบางประเทศเข้ามาท่องเที่ยวได้ พร้อมกับความคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้

“หุ้นที่แนะนำให้ลงทุนยังเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจอาหารทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ เช่น CPF และ TFG  และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น STGT ที่ได้รับอานิสงส์จากความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกยังสูงมาก ส่วนกลุ่มที่ต้องระมัดระวัง คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่ยังไม่เห็นความชัดเจนของแนวโน้ม NPLsเพราะยังอยู่ในช่วงมาตรการการพักชำระหนี้”บล.เอเซียพลัสระบุ