HoonSmart.com>> “ทริส เรทติ้ง” คงเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ “อมตะ คอร์ปอเรชั่น” ชุดปัจจุบัน พร้อมชุดใหม่วงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาท ระดับ A- แนวโน้ม “Stable”
บริษัท ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) ที่ระดับ “A-” พร้อมกันนี้ ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A-” ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ใปใช้ในการชำระคืนหนี้เดิมของบริษัท และหรือเพื่อขยายธุรกิจ และหรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงผลงานที่ได้รับการยอมรับของบริษัทในฐานะหนึ่งในผู้นำในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย รวมทั้งฐานรายได้ประจำจำนวนมากจากธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคและเงินปันผลรับจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงความเสี่ยงของประเทศและความเสี่ยงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทในต่างประเทศ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงภาระหนี้ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตจากแผนการลงทุนจำนวนมากของบริษัท ตลอดจนการเติบโตของรายได้ที่อ่อนแอลง
ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับแรงกดดันจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ซึ่งส่งผลทำให้ยอดขายที่ดินลดลงอย่างมากจากมาตรการจำกัดการเดินทาง และภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ บริษัทมียอดขายที่ดินเพียง 116 ไร่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ลดลงเมื่อเทียบกับ 294 ไร่ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเท่ากับ 2 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 หรือ ลดลง 7.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า รายได้ที่ลดลงมาจากการลดลงของยอดโอนที่ดิน ในขณะที่รายได้จากธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคและรายได้ค่าเช่ายังคงที่
อย่างไรก็ตาม กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เนื่องจากอัตราการทำกำไรของบริษัทอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และมีเงินปันผลรับเพิ่มขึ้นจากธุรกิจโรงไฟฟ้า กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 11.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 1.2 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อยอดขายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 56.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 46.7% ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ายอดขายที่ดินของบริษัทจะหดตัวลงในปี 2563 และจะค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2564 เป็นต้นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น จากมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
ทั้งนี้ ทริสยังมองว่าบริษัทจะยังคงได้ประโยชน์จากโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจากการที่บริษัทมีที่ดินจำนวนมากถึงประมาณ 13,000 ไร่ในจังหวัดชลบุรีและระยอง อีกทั้งความต้องการในการย้ายฐานการผลิตซึ่งเป็นผลมาจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) ที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด 19 และความตึงเครียดของสงครามทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่มีภาระดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท โดยหนี้สินในสัดส่วน 96% ของจำนวนดังกล่าวเป็นหุ้นกู้และเงินกู้ยืมระยะยาว ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า บริษัทมีเงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าประกอบด้วย เงินกู้ระยะยาวและหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดจำนวน 3.0 พันล้านบาท สำหรับสภาพคล่องทางการเงิน บริษัทมีเงินสด 1.6 พันล้านบาท และคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ 1.4 พันล้านบาท และวงเงินกู้จากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้ประมาณ 2.0 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าความสามารถของบริษัทในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายนอก ซึ่งประกอบด้วย เงินกู้จากธนาคารและตลาดทุนในประเทศยังคงเหมือนเดิม
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมต่อไปได้ ในขณะที่รายได้ประจำจากธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภค รวมทั้งเงินปันผลจากธุรกิจโรงไฟฟ้า และรายได้ค่าเช่าโรงงานอุตสาหกรรมจะช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินงานให้แก่บริษัทได้บางส่วนในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว
อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากภาระหนี้ของบริษัทลดลง จนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่ำกว่า 4 เท่าอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลง หากบริษัทมีการลงทุนโดยใช้หนี้สินจำนวนมากจนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายสูงเกินกว่า 9 เท่า