บลจ.กสิกรฯ มอง SET สิ้นปี 1,400 จุด ชูจัดพอร์ตกระจายเสี่ยงเลี่ยงผันผวน

HoonSmart.com>> บลจ.กสิกรไทย มองเป้าหุ้นไทยสิ้นปี 1,400 จุด แนะกลยุทธ์ลงทุนรับเทรนด์โลกหลังโควิด-19 ชูธีม Multi Asset เน้นจัดพอร์ตกระจายเสี่ยงเลี่ยงผันผวน คัด 4 กองทุนเก็บเข้าพอร์ต

วศิน วณิชย์วรนันต์

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาว่ามีลักษณะการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะเดียวกันความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนในระยะสั้นยังคงมีอยู่ ประกอบกับผู้ลงทุนยังกังวลสถานการณ์จึงเลือกถือครองกองทุนตราสารหนี้เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ได้รับผลตอบแทนอย่างจำกัด

อย่างไรก็ดี คาดว่าไทยจะสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้เองในปี 2565 ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ลงทุนบริหารพอร์ตโดยการกระจายลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภททั่วโลก (Multi Asset) ผ่านกองทุนแนะนำของบลจ.กสิกรไทย เพื่อเพิ่มโอกาสรับตอบแทนในระยะยาวภายหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

กลยุทธ์การจัดพอร์ตให้มีประสิทธิภาพควรกระจายลงทุนทั้งในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงและสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อสร้างผลตอบแทนในภาวะตลาดที่แตกต่างกันและช่วยลดความผันผวนได้ ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถแบ่งสัดส่วนของพอร์ตออกเป็นพอร์ตหลัก (Core Portfolio) ซึ่งแนะนำให้มีน้ำหนักมากกว่า 50% ของพอร์ต ส่วนที่เหลือเป็นพอร์ตเสริม (Satellite Portfolio)

ชู 4 กองทุนจัดพอร์ต

นายวจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวางแผนกลยุทธ์ บลจ.กสิกรไทย เปิดเผยว่า กองทุนที่แนะนำเป็นพอร์ตหลัก ได้แก่ กองทุนเปิดเค โกลบอล อินคัม (K-GINCOME) เป็นพอร์ตหลัก ซึ่งมีนโยบายที่เน้นกระจายสินทรัพย์หลากหลายประเภทกว่า 2,500 สินทรัพย์ทั่วโลก ผ่านกลยุทธ์การบริหารที่ยืดหยุ่นและปรับพอร์ตให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของภาวะตลาดได้

สำหรับพอร์ตเสริมแนะนำ 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดเค ไชน่า คอนโทรล โวลาติลิตี้ (K-CCTV) ที่เน้นลงทุนในตลาดหุ้นจีน A-Shares ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตสูง โดยกองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้โดดเด่นติดอันดับ Top Quartile อย่างสม่ำเสมอนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน

กองทุนเปิดเค พอสซิทีฟ เชนจ์ หุ้นทุน (K-CHANGE) ที่เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัททั่วโลกที่มีอัตราการเติบโตสูง (Growth Stock) และสร้างผลเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยกองทุนมีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 52.60% ต่อปี สามารถเอาชนะดัชนีชี้วัด MSCI ALL Country World ซึ่งอยู่ที่ 2.88% ต่อปี (ข้อมูล ณ 31 ก.ค. 63)

กองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ โปรแอคทีฟ (K-FIXEDPRO) ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดีระดับ Investment Grade ทั้งไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย โดยมุ่งหวังผลตอบแทนที่มากกว่ากองทุนตราสารหนี้ทั่วไป

สำหรับมุมมองต่างประเทศ นายวศิน กล่าวว่า ตลาดหุ้นได้สะท้อนการรับรู้ข่าวดีของพัฒนาการผลิตวัคซีนจากตัวเลขดัชนีชี้วัดต่างๆ ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่หลายประเทศยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเป็นไปได้ช้ากว่าที่คาด ในส่วนของมุมมองในประเทศ ตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงมีสภาพคล่องและเสถียรภาพ โดยคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังมีความผันผวนในระยะสั้น

เพิ่มน้ำหนักหุ้น “กลุ่มชิ้นส่วนฯ-พาณิชย์-อาหาร”

ด้านน.ส.ธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บลจ.กสิกรไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การเมืองในขณะนี้ค่อนข้างกังวล แต่จากที่เห็นการชุมมนุมไม่ถี่และนัดชุมนุมเป็นจุดๆ ไม่ใช่ย่านธุรกิจ ขณะที่รัฐบาลมีแนวทางประนีประนอมพอสมควร แต่ต้องยอมรับว่าในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติอาจกังวลและมีตัวเลือกลงทุนในตลาดหุ้นอื่นที่ราคาปรับตัวลงมามาก จึงอาจไม่เห็นฟันด์โฟลว์เข้ามาตลาดหุ้นไทยมากนัก แต่ยังคงมองเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยสิ้นปีไว้ที่ 1,400 จุด โดยผู้ลงทุนต้องติดตามประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนเป็นระยะได้

สำหรับพอร์ตกองทุนหุ้นไทยภายใต้การบริหารของบลจ.กสิกรไทย ได้ปรับลดน้ำหนักลงทุนกลุ่มแบงก์มากระยะหนึ่ง รวมถึงกลุ่มพลังงานในธุรกิจปิโตรเคมี แต่ปัจจุบันราคาหุ้น 2 กลุ่มนี้ลงไปมากจึงน่าสนใจในมุมเทคนิเคิล ท่ามกลางพัฒนาการวัคซีนคืบหนาตามลำดับ

“กรณีทีมีข่าวว่าแบงก์ล้ม มองว่าไม่น่าจะถึงขั้นนั้น ปัจจุบันเงินกองทุนแบงก์อยู่ระดับสูงและมาตรการธนาคารแห่งประเทศออกมาช่วยแบงก์ หากสถานการณ์ไม่ได้แย่ไปกว่านี้หรือหากมีการระบาดของโควิด-19 รอบสองแต่ไม่รุนแรง เชือว่าแบงก์คงไม่ไปถึงจุดนั้น”น.ส.ธิดาศิริ กล่าว

ส่วนกลุ่มหุ้นที่เพิ่มน้ำหนัก ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอกนิกส์ กลุ่มพาณิชย์ อาหารและเครื่องดื่ม

มองแนวโน้มเงินไหลกลับกองทุนรวม

นายวศิน กล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนในช่วงที่ผ่านมามูลค่าสินทรัพย์สุทธิปรับตัวลดลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นผลจากวิกฤติ COVID-19 โดยลดลงประมาณ 5 แสนล้านบาท ในจำนวนนั้นประมาณ 3 แสนล้านบาท มาจากการหายไปของการปิด 4 กองทุน ของบางบลจ. ในส่วนของธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลพบว่ามีเงินบางส่วนที่ถูกถอนเงินกลับไป ด้านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พบบริษัทและลูกจ้างบางส่วนที่ไม่สามารถนำส่งเงินได้ แต่หลังวิกฤติ COVID-19 เม็ดเงินลงทุนเริ่มไหลกลับเข้ามาในธุรกิจกองทุนอีกครั้ง จึงเป็นการสะดุดเพียงชั่วคราวเท่านั้น ความน่าสนใจของธุรกิจกองทุนยังคงมีอยู่และหลังจากนี้น่าจะมีเม็ดเงินลงทุนไหลกลับเข้ามาอีก

ปัจจุบัน บลจ.กสิกรไทย มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) อยู่ที่ 1.36 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจกองทุนรวม 1.00 ล้านล้านบาท ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 1.88 แสนล้านบาท และธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล 1.68 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดจำแนกตามธุรกิจอยู่ที่ 21.4%, 15.5% และ 15.3% ตามลำดับ โดยยังคงครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมกองทุนรวม ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ณ 31 ก.ค.2563

นายวศิน กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจกองทุนหลังจากนี้มองว่าจะมีการเจาะตลาดใหม่มากขึ้น หลังจากมีผู้เล่นใหม่มากขึ้นจากบลจ.ในเครือของบริษัทประกัน ซึ่งจะมีช่องทางการเจาะตลาดในกลุ่มใหม่ เช่น ตัวแทนขาย Unit Link, Fintech รวมทั้งการยกร่างพ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ ซึ่งยังมีความจำเป็นอยู่ จะเป็นปัจจัยผลักดันให้ธุรกิจกองทุนเติบโตได้

สุรเดช เกียรติธนากร

เป้าหมายเติบโต “ชนะตลาด”

นายสุรเดช เกียรติธนากร กรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย เปิดเผยว่า คาดว่า AUM ปีนี้น่าจะใกล้เคียงกับปีก่อน โดยบริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตสูงกว่าตลาด ขณะเดียวกันมองว่าโครงสร้างเงินลงทุนของนักลงทุนไทยที่ให้น้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ค่อนข้างมาก ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป และดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำ จะเป็นแรงผลักดันให้นักลงทุนต้องขยับไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มกองทุนรวมเพื่อไปลงทุนต่างประเทศ (FIF) น่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยมองกลยุทธ์การจัดพอร์ตให้มีประสิทธิภาพควรกระจายลงทุนทั้งในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงและสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อสร้างผลตอบแทนในภาวะตลาดที่แตกต่างกันและช่วยลดความผันผวนได้