KTB-SCB-TMB-TISCO-KKP ได้ดี รวมพอร์ตหนี้รายย่อย

HoonSmart.com>>บล.โนมูระพัฒนสิน ยก 5 แบงก์ได้ประโยชน์ จากนโยบายรวมพอร์ตหนี้ ลด NPLs บรรเทาภาวะดอกเบี้ย  เพราะมีลูกหนี้รายย่อยมากที่สุด 

บล.โนมูระ พัฒนสิน คาดว่าธนาคารที่น่าจะได้ประโยชน์มากสุดจากนโยบายปรับโครงสร้างหนี้ผ่านการรวมพอร์ตลูกหนี้ของธปท. ช่วยลดภาระดอกเบี้ยและลด NPLs คือ KTB, SCB, TMB TISCO และ KKP เพราะมีสัดส่วนลูกหนี้รายย่อยมากสุด

นโยบายของธปท.ช่วยลดโอกาสการตกชั้นเป็น NPLs และช่วยลดภาระการตั้งสำรองต่อกลุ่มธนาคาร มาตรการมีระยะเวลาเข้าร่วมตั้งแต่ 1 ก.ย.- 31 ธ.ค. 2563  รองรับการหมดอายุของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้ผลกระทบจาก โควิด-19 ระยะที่ 1 จะหมดลงในเดือนต.ค.นี้ และช่วยเพิ่มทางเลือกในการปรับโครงสร้างหนี้ สอดคล้องกับที่ ธปท.ไม่ให้ต่ออายุการพักชำระหนี้ แต่จะเน้นช่วยเหลือลูกหนี้โดยการปรับโครงสร้างหนี้มากกว่า

การรวมหนี้รายย่อยอย่างสินเชื่อบัตรเครดิต, สินเชื่อบุคคล, สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อที่อยู่อาศัยของเจ้าหนี้หลายรายเข้าด้วยกันภายใต้เจ้าหนี้รายเดียว และปรับโครงสร้างหนี้โดยมีการยืดอายุการจ่ายหนี้ รวมถึงคิดอัตราดอกเบี้ยเหลือเพียง MRR ซึ่งปัจจุบันดอกเบี้ยของ 4 แบงก์ใหญ่อยู่ที่ราว 5.75%-6.22% แม้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อบัตรเครดิตที่ 16% และสินเชื่อบุคคลที่ 25% ลงมาเหลือ MRR แต่มองว่าธนาคารพาณิชย์จะได้ประโยชน์จากการลดภาระการตั้งสำรองมากกว่า เพราะมองว่าลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมมาตรการมีแนวโน้มเป็น NPLs สูง โอกาสในการเก็บดอกเบี้ยจากกลุ่มเหล่านี้ต่ำอยู่แล้ว

ด้านตลาดหุ้นวันที่ 28 ส.ค. หุ้นแบงก์ปรับตัวขึ้นแรงนำตลาด BBL +2 บาท ซื้อขายที่ 109 บาท KBANK เพิ่มขึ้น 2.50 บาท อยู่ที่ 88 บาท SCB บวก 1.25 บาท ซื้อขายที่ 74 บาท