BCPG คาดกำไรโตเท่าตัวทะลุ 7 พันลบ. 5 ปีบุกลงทุนโรงไฟฟ้า ซื้อกิจการสิ้นปีนี้

HoonSmart.com>>“บีซีพีจี” เปิดแผน 5 ปี ทุ่มลงทุน 4.5 หมื่นล้านบาท หนุน EBITDA โตเท่าตัว 7-8 พันล้านบาท เงินเพิ่มทุน 1.035 หมื่นล้านบาท จัดสรร 64% ลุยโครงการเดิม ส่วน 34% ซื้อ-ควบรวมกิจการ คาดสรุป1 ดีลสิ้นปีนี้ ถือโอกาสช่วงโควิด ราคามีส่วนลด 10-20% มั่นใจเพิ่มทุนสำเร็จ ส่วนหุ้น PP 280-300 ล้านหุ้น กำลังคุยกับพันธมิตร 2-3 ราย เลือก1 ราย หากไม่ลงตัวอาจยกเลิก

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี (BCPG) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าจะทำกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เติบโตกว่าเท่าตัวอยู่ที่ประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท จากปีนี้คาดว่าจะทำได้ประมาณ 3,500-4,000 ล้านบาท เป็นผลจากลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทตั้งงบลงทุนกว่า 4.5 หมื่นล้านบาทในช่วง 5 ปี (ปี 2563-2567) ซึ่งจะมาจากการเพิ่มทุน 1 หมื่นล้านบาท เงินกู้ 3 หมื่นล้านบาท และเงินสดจากการดำเนินงาน 5 พันล้านบาท

บริษัทเตรียมเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน 1,301.7 ล้านหุ้น คาดว่าจะได้รับเงินเพิ่มทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดย 64% หรือประมาณ 6,650 ล้านบาท ใช้รองรับการลงทุนโครงการของบริษัทและชำระหนี้ ส่วนอีก 3,700 ล้านบาท หรือ 34% ใช้ซื้อหรือควบรวมกิจการโรงไฟฟ้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งเป็นโครงการประเภทพลังงานหมุนเวียน ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าขยะ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในสิ้นปี 2563 นี้ อย่างน้อย 1 โครงการ ตั้งเป้าอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ไม่น้อยกว่า 10% จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ได้ส่วนลดในการซื้อกิจการประมาณ 10-20% เมื่อเทียบกับภาวะปกติ

สำหรับเงินที่เตรียมไว้ใช้ลงทุนโครงการของบริษัท ประมาณ 6,650 ล้านบาท ประมาณ  30% ใช้ลงทุนใน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงทิตย์ ในประเทศ 4 โครงการ ตั้งอยู่บริเวณ 3 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดลพบุรี และจังหวัดปราจีนบุรี มีกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 20 เมกะวัตต์ ใช้เงินประมาณ 1,210 ล้านบาท หรือ 12% ของเงินเพิ่มทุน และลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Nam San 3A และNam San 3B ใน สปป. ลาว และการสร้างสายส่งขนาด 220 กิโลโวลต์ เพื่อส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำทั้ง 2 แห่ง ไปยังเวียดนาม ใช้เงินประมาณ 1,870 หรือ 18% ของเงินเพิ่มทุน

ทั้งนี้  2 โครงการดังกล่าวจะเริ่มทยอยรับรู้กำไร รวมถึงได้ประโยชน์เพิ่มค่าไฟฟ้าของรัฐบาลฟิลิปปินส์ ทำให้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมมีรายได้เพิ่มขึ้น

ส่วนที่เหลือ 3,570 ล้านบาท  ใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ใน สปป. ลาว กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ซึ่งเวียดนามได้อนุมัติแผนรับซื้อไฟฟ้าแล้ว รวมถึงการก่อสร้างสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ เพื่อรองรับการซื้อไฟฟ้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดจรจาซื้อขายไฟฟ้ากับทางรัฐบาลเวียดนาม และเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง คาดได้ข้อสรุปในสิ้นปีนี้ และจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในปี 2566 รวมถึงคาดว่าจะสามารถให้ ROE ในโครงการนี้ประมาณ 14-16%

“บริษัทเพิ่มทุนสำเร็จแน่นอน หากผู้ถือหุ้นรายย่อยใช้สิทธิไม่ครบ บริษัทแม่ ซึ่งเป็นผู้หุ้นรายใหญ่ประมาณ 56% พร้อมที่จะเข้ามาซื้อในส่วนที่เหลือทั้งหมด เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะได้เงินครบตามแผนที่วางไว้” นายบัณฑิต กล่าว

นอกจากนี้บริษัทได้มีการขออนุมัติเสนอขายนักลงทุนในวงจำกัด (PP) อีกจำนวน 280-300 ล้านหุ้น  ไว้รองรับการเสนอขายให้กับพันธมิตรทางธุรกิจ ในด้านโรงไฟฟ้าและพลังงานทดแทน ขณะนี้มีการเจรจาอยู่ 2-3 ราย แต่จะเลือก 1 รายเท่านั้น คาดว่าจะมีความชัดเจนในกลางปี 2564 ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หากไม่มีความชัดเจนก็อาจจะยกเลิกการเสนอขาย PP ในส่วนนี้ไป