GULF เพิ่มทุน ลุยลงทุน1.1 แสนลบ. ได้หลายเด้ง กำไรทะยาน ลด P/E-D/E

HoonSmart.com>>”กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ”ติดเครื่องสร้างกำไรกระโดดตั้งแต่ปี 64 เป็นต้นไป เงินเพิ่มทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท ต่อยอดลงทุน ซื้อกิจการ รับรองกำไรต่อหุ้นไม่มีลง ยังช่วยลด P/E ที่สูงกว่า 100 เท่า ฐานะการเงินแข็งแรง D/E เหลือ 1.7-1.8 เท่า ส่วนความสำเร็จออกหุ้นกู้ดอกเบี้ยต่ำ ลดต้นทุนทางการเงิน มีแผนขายเพิ่มอีก 1 หมื่นล้านบาทในปีหน้า

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2563 ในวันที่ 27 ส.ค. 2563 อนุมัติทุกวาระ โดยเฉพาะการเพิ่มทุน 1,066.65 ล้านหุ้น คาดว่าจะระดมทุนได้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท รองรับการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่และโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ช่วยเพิ่มศักยภาพการลงทุนได้เพิ่มอีก 1.1 แสนล้านบาทในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า ทำให้มั่นใจว่ากำไรเติบโตสูงต่อเนื่องจนถึงปี 2568

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเชื่อมั่นว่า กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) จะเติบโตได้หลังเพิ่มทุน เนื่องจากบริษัทนำเงินเพิ่มทุนส่วนหนึ่งไปซื้อหุ้น 50% โรงไฟฟ้าพลังงานลมในเยอรมนี ขนาด 464.8 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4/2563 และจะสร้างกำไรเข้ามาประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาท/ปี โดยมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ประมาณ 10-15%

นอกจากนี้กำไรที่เพิ่มขึ้นยังช่วยทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) กลับมาอยู่ในระดับ 1.7-1.8 เท่า เท่ากับสิ้นไตรมาส 2/2563 หากไม่มีเงินเพิ่มทุน D/E จะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 เพราะมีการกู้เงินระยะสั้นมาซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเยอรมนี และถ้าภายใน 2-3 ปีนี้ไม่ดำเนินการอะไร D/E จะพุ่งขึ้นเป็น 3 เท่า นอกจากนี้กำไรยังช่วยลดสัดส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ด้วย ทั้งนี้ หุ้น GULF ซื้อขายที่ P/E สูงกว่า 106 เท่า

” มั่นใจว่าการเพิ่มทุนครั้งนี้จะสำเร็จ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หลายรายให้ความสนใจจองซื้อเกินสิทธิ์ที่กำหนดสัดส่วน 10 ต่อ 1 ราคาหุ้นละ 30 บาท ปกติเวลามีหุ้นเพิ่มทุนมากขึ้น EPS จะต้องลดลง แต่กรณีของเรา กำไรต่อหุ้น จะสูงขึ้น เมื่อโอนหุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ซื้อเข้ามาหลังเพิ่มทุน EPS ก็จะขึ้นมา ส่วนความสำเร็จในการขายหุ้นกู้ มีความต้องการสูงมากจนต้องนำกรีนชูออกมาขายด้วย ได้ดอกเบี้ยต่ำช่วยลดต้นทุนทางการเงิน”นายสารัชถ์ กล่าว

บริษัทมีเป้าหมายในการซื้อโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว จะช่วยให้บริษัทมีการเติบโต ซึ่งในช่วงสั้น ๆ 2-3 ปี จำเป็น ก่อนที่รายได้หลัก โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) 2 โครงการ รวม 5,000 เมกะวัตต์ จะเริ่มทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี 2565-2566 ทำให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้จะช่วยเสริมศักยภาพในการมองหาโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติม ทั้งในสหรัฐ อังกฤษ ลาว เวียดนาม ยุโรป ซึ่งปัจจุบันมีหลายโครงการที่เสนอเข้ามาให้พิจารณา ส่วนใหญ่เป็นโครงการพลังงานทดแทนในต่างประเทศ

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงาน คาดว่าารายได้ในปีนี้จะเติบโต15% จากปี 62 และเติบโตถึง 50% ในปี 2564 จากการรับรู้ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเยอรมนีเต็มปี และการเปิดดำเนินเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้า IPP GSRC จ.ชลบุรียูนิตแรกในปีหน้า และยูนิต 2 ในปี 2565 โดยมีกำลังผลิตรวมราว 2,500 เมกะวัตต์
นอกจากนี้โรงไฟฟ้า IPP GPD จ.ระยอง กำลังการผลิตรวมราว 2,500 เมกะวัตต์ จะทยอยเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2566 และ 2567 ส่วนโรงไฟฟ้าหินกอง จ.ราชบุรี ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ จะเดินเครื่องผลิตในปี 2567 และ 2568 ขณะที่โรงไฟฟ้าบูรพาพาวเวอร์ ซึ่งเป็น IPP ขนาด 540 เมกะวัตต์ จะเริ่มผลิตในปี 2570

บริษัทยังให้ความสนใจศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาว 3 โครงการ กำลังผลิตรวมกว่า 2,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถปิดดีลได้ภายในปี 2564

ปัจจุบัน GULF มีกำลังผลิตติดตั้งในมือรวม 7,976 เมกะวัตต์ ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม เยอรมนี และ โอมาน โดยเป็นกำลังผลิตที่เดินเครื่องแล้ว 6,409 เมกะวัตต์ และจะเพิ่มเป็น 8,000 เมกะวัตต์ในปี 2564 และเพิ่มเป็น 10,000 เมกะวัตต์ในปี 2565

ส่วนการได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (shipper) สำหรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าตัวเองนั้น เชื่อว่าจะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลงในอนาคต และต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซฯเพิ่มขึ้นในอนาคต

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน ของ GULF กล่าวว่า บริษัทยังมีแผนออกหุ้นกู้ราว 1 หมื่นล้านบาทในปี 2564 เพื่อใช้ขยายลงทุน หรือรีไฟแนนซ์  ทำให้โครงสร้างทางการเงินมีความแข็งแกร่งมากขึ้น