นักลงทุนแห่ซื้อ “กองทุนรวม-LTF-RMF” หลังดัชนีร่วงต่ำ 1,600 จุด ส่งผลให้ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่มีเงินสดเพียบ รอจังหวะช้อนซื้อหุ้นกลับ ด้าน “บลจ.ทิสโก้-บลจ.กรุงไทย” ประเมินดัชนีสิ้นปียืนได้ 1,840 จุด
นายนิพจน์ ไกรลาศโอฬาร ผู้จัดการอาวุโส บลจ.ทิสโก้ เปิดเผยว่า ในช่วงที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯลดลงมาต่ำกว่า 1,600 จุด ทำให้ประชาชนและนักลงทุนเข้าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวม กองทุน LTF และกองทุน RMF เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลให้ขณะนี้ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่ มีเงินสดพร้อมเข้าซื้อหุ้นเพิ่มเติมได้ทันที เมื่อถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะการลงทุนในหุ้นยังให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนประเภทอื่นๆ
“ตอนนี้ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่มีเงินสด เพียงแต่รอจุดซื้อกลับ และราคาหุ้นลดลงมามาก ทำให้ผลตอบแทนในรูปเงินปันผลสูงขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงที่ดัชนีฯลดลงมา 1,600 จุด หุ้นที่มีปันผลสูงราคาจะลดลงน้อยกว่าดัชนีฯด้วยซ้ำ”นายนิพจน์กล่าว
นายนิพจน์ กล่าวว่า แม้ในระยะสั้นดัชนีฯหุ้นไทยจะไปต่อได้ลำบาก แต่ ณ สิ้นปีนี้ บลจ.ทิสโก้ ยังประเมินว่าดัชนีฯจะยืนที่ระดับ 1,840 จุด เนื่องจากในปีหน้าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้ง และก่อนจะถึงช่วงเลือกตั้งทุกครั้งจะมีเงินจากไหนก็ไม่รู้เข้ามาซื้อหุ้นไทย ขณะที่เศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมมีพื้นฐานที่ดี ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 10% ของจีดีพี อัตราเงินเฟ้อต่ำ และการลงทุนในอีอีซีที่จะกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ
นายนิพจน์ ระบุว่า ขณะนี้นักวิเคราะห์ไม่สามารถประเมินได้ว่าเงินทุนต่างประเทศจะไหลออกจากตลาดเกิดใหม่อีกเท่าไหร่ และเป็นไปได้ว่าเงินทุนไหลออกรอบนี้อาจลากยาวถึงข้ามปี แต่บลจ.ทิสโก้มั่นใจว่าเงินทุนดังกล่าวคงไม่ไหลกลับไปสหรัฐทั้งหมด และบางส่วนยังรอจังหวะเข้าลงทุนในหุ้นไทย
“หุ้นที่ลงมาเยอะเพราะฟันด์โฟลว์ไหลออก แต่ถ้าฟันด์โฟลว์ไหลกลับมา หุ้นที่เดิมเคยอยู่ที่เท่าไหร่ ก็จะกลับไปอยู่เท่านั้น ซึ่งดัชนีฯที่ลดลงมา 1,600 จุด น่าจะเป็นโอกาสสำหรับการเลือกซื้อกองทุน LTF และRMF เช่น คนที่มีแผนซื้อกองทุนปลายปีอยู่แล้ว ก็น่าจะเปลี่ยนมาซื้อกลางปีก็ได้ เพราะจะซื้อหุ้นในราคาถูกลง”นายนิพจน์กล่าว
นายสมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย หรือ KTAM กล่าวว่า ในช่วงครึ่งหลังปี 2561 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากปัจจัยเศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยุโรปยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีปัญหาการเมืองเข้ามากดดันเป็นระยะๆ ส่วนความขัดแย้งในเรื่องการค้าระหว่างประเทศนั้น อาจมีผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
“การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังอาจได้รับแรงหนุนจากการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หลังจากชะลอการลงทุนจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันตกต่ำ ส่วนปัญหาการกีดกันทางการค้าโลกยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หากประเทศที่ขัดแย้งกันสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ อาจทำให้การค้าโลกกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโลกกลับมาขยายตัวได้ดียิ่งขึ้น”นายสมชัยกล่าว
สำหรับเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังคาดว่าจะขยายตัวในอัตราชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี แต่ในภาพรวมยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ถึง 4.5% ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา ปัจจัยสนับสนุนมาจากภาคการท่องเที่ยว แนวโน้มขยายตัวของการลงทุนหลังพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ รวมทั้งการบริโภคที่อาจปรับตัวดีขึ้นตามการปรับขึ้นของราคาสินค้าเกษตรบางประเภท
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ โดยรวมอัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นขาขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แม้ว่าอาจจะชะลอลงเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังจากปัจจัยทางเทคนิค ขณะที่ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะยังคงทรงตัวที่ระดับ 1.50 % ต่อปีไปจนสิ้นปีนี้ ก่อนที่จะขยับขึ้นในช่วงต้นของปี 2562 หลังจากภาพเศรษฐกิจไทยมีฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง
นางแสงจันทร์ ลี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ การลงทุนในตราสารทุน สายงานจัดการลงทุน บลจ.กรุงไทย กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในช่วงครึ่งปีหลัง และจะส่งผลกระทบต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย คือ ความกังวลต่อมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกาต่อจีนและประเทศอื่นๆ ว่าจะพัฒนารุนแรงขึ้นจนกระทบต่อปริมาณการค้าโลก สภาวะการลงทุนและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมากน้อยเพียงใด
“ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสแรกมีการเติบโตที่ดีขึ้น ทำให้คาดว่าผลประกอบการของตลาดโดยรวมทั้งปีน่าจะเติบโตได้มากกว่า 10% ประกอบกับสภาพคล่องทางการเงินส่วนเกินในระบบของไทยยังอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศที่เริ่มเข้าสู่ความเข้มงวดในเรื่องมาตรการทางการเงิน ทำให้คาดว่าสิ้นปีนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะกลับมายืนที่ระดับสูงสุดที่ 1,840 จุดได้ หากปัจจัยภายนอกคลี่คลายลง”
กลยุทธ์ในการเลือกการลงทุนของบลจ.กรุงไทยจะเน้นหลักทรัพย์ในประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของการอุปโภคบริโภค และการลงทุนในโครงสร้างฟื้นฐานของประเทศ และเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และสำคัญสุดคือราคาที่เหมาะสมกับมูลค่าปัจจัยพื้นฐาน
นายกฤษณ์ ณ สงขลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายลงทุนตราสารหนี้ สายงานจัดการลงทุน บลจ.กรุงไทย กล่าวว่า อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ต่างประเทศในช่วงครึ่งหลังปี 2561 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากครึ่งปีแรกตามแนวโน้มการลดระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางในหลายประเทศ ขณะที่ปริมาณตราสารหนี้ออกใหม่ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการลงทุน
“เราประเมินว่ากนง. น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50 % ต่อปี ตลอดปี 2561 นี้”นายกฤษณ์กล่าว
ภาพรวมการซื้อขายหุ้นวันที่ 2 ก.ค.2561 นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิ 1,850.74 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ 787.07 ล้านบาทและนักลงทุนในประเทศขายสุทธิ 928.54 ล้านบาท ด้านสถาบันในประเทศซื้อสุทธิกลุ่มเดียว 3,566.35 ล้านบาท
ดัชนีปิดที่ระดับ 1,607.27 จุด บวก 11.69 จุด หรือ 0.73% มูลค่าการซื้อขาย 48,303.47 ล้านบาท