ไทยโชว์ศักยภาพตลาดทุน-บจ. รมว.คลังสร้างความมั่นใจ 95 สถาบันทั่วโลก

HoonSmart.com>>ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดงาน “Thailand Focus 2020 : Resiliency to Move Forward” รูปแบบ virtual conference ครั้งแรก เริ่มวันนี้ (26-28 ส.ค. 63) โดย รมว. คลัง ตอกย้ำความน่าสนใจในการลงทุนในไทยในยุคความเปลี่ยนแปลงใหม่  บจ. 53 บริษัท ให้ข้อมูลกับผู้ลงทุนสถาบัน 193 ราย จาก 95 สถาบันทั่วโลก  กองทุนต่างชาติที่ร่วมงาน 30% เป็นรายใหม่ สะท้อนตลาดทุนไทยยังน่าสนใจในสายตาผู้ลงทุนต่างประเทศ  

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงการจัดงาน “Thailand Focus 2020 : Resiliency to Move Forward” ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 26-28 ส.ค. 2563 ว่า นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้ความมั่นใจแก่ผู้ลงทุนด้วยแนวนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เพื่อขยายโอกาสการลงทุนภายใต้บริบทความเปลี่ยนแปลงของโลก ในปาฐกถาพิเศษ “Navigating through global uncertainties: Thailand’s opportunities for transformation” สอดคล้องกับมุมมองภาครัฐและภาคเอกชนที่ร่วมนำเสนอจุดแข็งของประเทศไทย และการปรับตัวที่รวดเร็วของภาคธุรกิจไทยในยุค new normal

ในปาฐกถาพิเศษ รมว.คลัง ได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมดูแลเศรษฐกิจ คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2564 จะกลับมาขยายตัวได้ในระดับ 4-5% โดยย้ำในมาตรการที่ช่วยเยียวยาและฟื้นฟูประชาชนและภาคธุรกิจ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวผ่านการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และโครงการภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ 4 แสนล้านบาท ขณะที่ยังสามารถคงวินัยทางการคลังไว้ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ ได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างรวดเร็วและใกล้ชิด

การจัดงานในรูปแบบ virtual conference เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสถาบันทั่วโลกสามารถร่วมรับฟังข้อมูลได้สะดวก ผู้ลงทุนจากต่างประเทศสามารถประชุมออนไลน์กับ บริษัทจดทะเบียน (บจ.) โดยมีผู้ลงทุนสถาบันร่วมรับฟังข้อมูล 193 ราย จาก 95 สถาบัน และร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและซักถามข้อมูลจากผู้บริหาร บจ.  53 บริษัท โดยกองทุนต่างชาติที่ร่วมงาน 30% เป็นกองทุนรายใหม่ที่เพิ่งเข้าร่วมเป็นครั้งแรก แสดงให้เห็นว่าไทยยังเป็นที่หมายการลงทุนที่น่าสนใจ” นายภากรกล่าว

สำหรับงาน Thailand Focus นับเป็น in-bound roadshow ที่จัดมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่รู้จักและเป็นกิจกรรมสำคัญประจำปีที่ ผู้ลงทุนสถาบันรอติดตามข้อมูล และตลาดหลักทรัพย์ฯ มีช่องทาง “กิจกรรม Digital Roadshow” นำเสนอผ่านระบบ VDO Conference เพื่อผู้ลงทุนต่างชาติติดตามข้อมูลผลประกอบการ บจ. ไทยและมุมมองผู้บริหารต่อทิศทางธุรกิจ ซึ่งในแต่ละไตรมาส มีผู้ลงทุนจากหลายภูมิภาคร่วมติดตาม

นายภากร กล่าวว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ปัญหาร้ายแรงต่อสุขภาพ แต่ก่อให้เกิดความปั่นป่วนและชะงักงันของเศรษฐกิจโลกด้วย ตลท.ใช้โอกาสนี้เพื่อแสดงว่าตลาดทุนของไทยมีความแข็งแกร่งและทนทานต่อวิกฤตนี้อย่างไร และบริษัทต่างๆของไทยได้เปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองเข้าสู่โลก New Normal ไปอย่างไรบ้าง ในช่วงไตรมาสแรก ตลาดทุนปั่นป่วน ดัชนี SET ร่วงลงอย่างรุนแรงในเดือนมี.ค.และเม.ย.ที่ผ่านมา แต่ด้วยปัจจัยแห่งความแข็งแกร่งทนทานของตลาดทุนไทย สามารถผ่านพ้นช่วงยากลำบากนั้นมาได้ด้วยดี และฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว  ทำให้ดัชนีที่ร่วงลงถึง 37% ดีดกลับมาในปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา และแตะระดับใกล้กับก่อนวิกฤตในเวลาเพียงไม่กี่เดือน

ประเทศไทยกำลังผ่อนคลายในธุรกิจต่างๆให้กลับมาประกอบการได้เช่นเดิม รวมทั้งอนุมัติให้มีการเดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศได้อย่างจำกัด ดัชนีของตลาดและอุตสาหกรรมต่างๆได้เริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป  และตอนนี้หุ้น IPO ได้เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง มีการระดมทุนในตลาดสูงถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบได้กับระดับของหลายปีที่ผ่านมา และตอนนี้ก็ยังมีหลักทรัพย์ถึง 30 ตัวที่กำลังรอเปิดตัวอยู่

นอกจากนี้นักลงทุนรายย่อยกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดพุ่งขึ้น ทำให้มูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์/วันในปีนี้ โดยที่ในช่วงครึ่งปีแรกมีบัญชีซื้อขายรายย่อยเปิดใหม่เพิ่มขึ้นถึง 190,000 บัญชี หรือ 34% จากสิ้นปี 2562 ขณะเดียวกันบริษัทต่างๆต้องคิดหายุทธศาสตร์ใหม่ สร้างฐานรายได้ใหม่ รวมทั้งหาแนวทางในการก้าวต่อไปอย่างมั่นคง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในยุค New Normal แบ่งเป็น 2 มุมมอง ได้แก่ มุมมองการปรับตัว และมุมมองความยั่งยืน โดยบจ.ในตลาดหลักทรัพย์ฯยอมรับแนวทาง ESG  เป็นเหมือนหนึ่งว่าบริษัทเหล่านั้นได้ออกไปแข่งขันในระดับโลกผ่านลงทุนในตลาดต่างๆทั่วโลกที่สามารถใช้ความยั่งยืนในการลงทุนได้

ทั้งนี้ เป็นเวลา 6 ปีติดต่อกันแล้วที่ประเทศไทยมีบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) มากที่สุดในบรรดา บจ.ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน นอกจากนี้ บจ.ของไทยก็มีคะแนนสูงสุดใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรมของดัชนี DJSI และเพื่อที่จะส่งเสริม บจ.ไทยให้รับ ESG และความยั่งยืน เข้ามาเป็นกลยุทธการดำเนินงานหลัก ทางตลท.ได้ออก Thailand Sustainability Investment Index (THSI) เพื่อเป็นดัชนีวัดคุณค่าของบริษัทต่างๆว่าผ่านมาตรฐานแห่งความยั่งยืนหรือไม่ และมีรายชื่อในดัชนีดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นจาก 51 บริษัทในปี 2559 มาเป็น 98 บริษัทในปี 2562 และมีมูลค่าทางหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) รวมกันถึง 356 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 65% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด

“เราจะกระตุ้นให้บริษัททุกขนาดให้หันมาสนใจ ESG และความยั่งยืนให้มากขึ้น  แนวคิดนี้จะกลายเป็นมาตรฐานการวัดสมรรถนะ เมื่อบริษัทต้องการระดมทุน เราเชื่อมั่นว่าบริษัทที่มี ESG จะทนทานต่อการเปลี่ยนแปลง และหวังว่าจะมีเงินทุนไหลเข้ามายังบริษัทที่มีความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น” นายภากร กล่าว