ลุ้น ธปท.ปลดล็อกปันผล Q4/63 S&P มองแบงก์ “ลบ” พุ่งเป้า KTB-KBANK

HoonSmart.com>>หุ้นไทยเหวี่ยงขึ้น-ลงตามกลุ่มธนาคาร  คึกคักรับข่าว ธปท.เตรียมอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลได้ปลายปีนี้  ส่วนสถาบันจัดอันดับชื่อดังของโลก สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ออกบทวิเคราะห์แบงก์ใหญ่ มองลบ  กำลังพิจารณาเรทติ้ง KBANK-TMB มีนัยยะเชิงลบ มองดีธนาคารกรุงเทพ-กรุงศรี บอร์ด BAYปรับลดเป้าปีนี้ สินเชื่อโตแค่ 3-5% รายได้ค่าธรรมเนียมหดตัว -10%ถึง-15% กลุ่ม ปตท.ทยอยประกาศงดจ่ายเงินปันผลกลางปี

ตลาดหุ้นวันที่ 26 ส.ค. ดัชนีผันผวนระหว่างวันจากบวกลงไปติดลบและปิดที่ 1,322.55 จุด +6.56 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายปานกลาง 48,652 ล้านบาท โดยในช่วงบ่ายมีแรงขายหุ้นธนาคารออกมามาก นำโดยธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ราคาลงไปลึกที่สุด 84.75 บาทก่อนดีดขึ้นมาปิดที่ 86 บาทไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อน หลังจากมีข่าวเรื่องธปท.จะไฟเขียวให้จ่ายเงินปันผลได้ปลายปีนี้

ด้านกลุ่มนักลงทุนมีการซื้อ-ขายเล็กน้อย ต่างชาติซื้อ 351 ล้านบาท สถาบันซื้อ 957 ล้านบาท รายย่อยขาย 953 ล้านบาท

บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ ระบุว่าจากงานประชุมนักวิเคราะห์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25ส.ค. 2563 มีสาระสำคัญคือ  ธปท.จะตัดสินใจว่าจะอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลหรือไม่ในไตรมาสที่ 4/2563 หลังจากธนาคารพาณิชย์ส่งแผนเงินกองทุนภายใต้การทดสอบภาวะวิกฤต (stress test) ในช่วงกลางเดือนต.ค.นี้

ธนาคารพาณิชย์มีงบดุลที่แข็งแกร่งพอสมควร และความสามารถในการทำกำไรลดลงจากการกันสำรองเพิ่มขึ้นและรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ลดลงในไตรมาส 2/2563 และสินเชื่อสัดส่วน 31% ของระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของธปท.

ด้านผลการดำเนินงานไตรมาส2/2563 ของระบบแบงก์ยังมีความมั่นคงระดับเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 19.2% อัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (LLR coverage) ที่ 144.1% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (LCR) ที่ 183.4% สามารถสนับสนุนระบบเศรษฐกิจการเงินในภาวะที่ท้าทายในระยะต่อไปได้

บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ให้น้ำหนักปกติสำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หลังจากสถาบันจัดอันดับเครดิต สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ออกบทวิเคราะห์กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ คาดคุณภาพสินทรัพย์ถดถอย ความสูญเสียทางด้านเครดิตเพิ่มขึ้น และความสามารถในการทำกำไรลดลง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง พิจารณาแล้วว่าแนวโน้มความเสี่ยงทางเศรษฐกิจสำหรับธนาคารของประเทศเปลี่ยนเป็น “ลบ”

ปัจจุบันกำลังพิจารณาเรทติ้งของธนาคารกรุงไทย (KTB) กับธนาคารกสิกรไทย มีนัยยะเชิงลบให้สถานะเป็น “Credit Watch” สะท้อนความเสี่ยงที่ต้องเผชิญมากกว่ากลุ่มธนาคาร

ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ปรับแนวโน้มเป็น”ลบ”ขณะเดียวกันคงอันดับเครดิตธนาคาร สำหรับธนาคารทหารไทย (TMB) เพิ่งได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิต  1 ขั้นเป็น BBB จากการรวมกับธนาคารธนชาต (TBANK) ทำให้ขนาดใหญ่ขึ้นจนมีความสำคัญมากต่อระบบธนาคาร แต่ยังมีแนวโน้มเป็นลบ

ขณะเดียวกันยืนยันเรทติ้งธนาคารกรุงเทพ (BBL) กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) พร้อมคงแนวโน้ม”คงที่” โดยมอง BBL เป็นธนาคารใหญ่ที่สุดในประเทศมีความสำคัญเชิงระบบสูง ขณะที่ BAY ได้รับประโยชน์จากมีแม่เป็นแบงก์ญี่ปุ่นอย่าง Mitsubishi UFJ Financial Group

“ถือเป็นข่าวลบกับกลุ่มธนาคาร โดยเฉพาะ KBANK และ KTB, เป็นลบเล็กๆ สำหรับ SCB, เป็นบวกสำหรับ TMB และบวกเล็กๆ สำหรับ BBL และ BAY ที่ยังคงยืนเรทติ้งอยู่ได้ในสถานการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจ”บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ระบุ

อย่างไรก็ตามราคาหุ้นของกลุ่มธนาคารปรับลดลงมามากตั้งแต่ต้นปี 2563 สะท้อนข้อมูลเชิงลบไปมากแล้ว แนะนำ “ทยอยรับ” สำหรับ BBL โดยมีราคาเป้าหมาย 133 บาท และ “เก็งกำไร” TMB ให้มูลค่า 1.20 บาท ส่วนธนาคารขนาดเล็กยังชอบบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) โดยมีราคาเป้าหมาย 86 บาท

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา แจ้งตลาดหลักทรัพย์ ปรับเป้าหมายทางการเงินในปี 2563 คาดสินเชื่อสุทธิเติบโต 3-5% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 5-7% ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยคาดหดตัว -10%ถึง -15% จากเดิม -3% ถึง+ 3% ขณะที่เพิ่มสัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเขื่อรวม 1.8-2% จาก 1.30-1.50 % เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานในปัจจุบัน สัดส่วนสินเชื่อรายย่อยต่อสินเชื่อรวม-50%ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ 3.4-3.6%

คณะกรรมการธนาคารฯมีมติวันที่ 26 ส.ค.2563 งดการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในปี 2563

ด้าน กลุ่มปตท. ได้มีการประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล จำนวน 2 บริษัท คือ PTTEP จ่ายหุ้นละ 1.50 บาท และ GPSC จ่าย 0.50 บาท ส่วนบริษัท PTTGC และ TOP แจ้งตลาดว่างดจ่ายเงินปันผลกลางปีนี้