มติเอกฉันท์เชียร์ BBL-TISCO สินเชื่อเดือน ก.ค.โตต่ำกดกำไร Q3/63

HoonSmart.com>>นักวิเคราะห์มองหุ้นแบงก์ถูก แต่ยังไม่ซื้อ กลัวความเสี่ยง NPLs  แนะนำเพียง “ธนาคารกรุงเทพ-ทิสโก้ฯ” สำรองไม่มาก สินเชื่อเข้าเกณฑ์ช่วยเหลือธปท.ต่ำ เงินปันผลดี บล.หยวนต้าให้เป้าหมาย BBL 150 บาท TISCO 85 บาท คาดในปีนี้กำไรทั้งกลุ่ม  134,629 ล้านบาท ลดลง 17.5% บล.เคจีไอคาดทั้งปีทรุด 45% บล.โนมูระฯเตือนระวังต่างชาติขายปรับพอร์ต BBL- F, KBANK,AEONT ถือเกือบเต็มเพดาน

บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวงเปิดเผยว่า ยังคงมีมุมมองเป็นกลางสำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยชอบธนาคารกรุงเทพ (BBL) และบริษัททิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) มากที่สุด จาก Loan loss coverage ที่สูง, มีสัดส่วนสินเชื่อที่เข้าข่ายเกณฑ์ช่วยเหลือของ ธปท. น้อย และมีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่สูง

ในเดือนก.ค.2563 ธนาคารทั้งระบบมียอดการปล่อยสินเชื่อสุทธิเติบโต 0.2% จากเดือนมิ.ย.จากการเบิกเงินกู้ก้อนใหญ่จากหลายธนาคาร ในบรรดาธนาคารทั้งหมด KKP,SCB, KBANK, TMB และ BAY รายงานสินเชื่อสุทธิโตมากน้อยตามลำดับ ในทางตรงกันข้ามสินเชื่อสุทธิของ BBL, TISCO, และ KTB ปรับตัวลดลง โดยประเมินกำไรรวมของกลุ่มธนาคารในไตรมาสที่ 3/2563 ลดลง 36% จากช่วงเดียวกันปีก่อน คาดจะมีเพียง TMB ที่รายงานกำไรเติบโตจากการควบรวมธนาคารธนชาต ในทางตรงกันข้าม SCB,KBANK,TISCO, BBL, BAY ,KKP และ KTB คาดกำไรจะปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนมากน้อยตามลำดับ

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้น้ำหนักกลุ่มแบงก์เท่ากับตลาด แนะนำ BBL  มูลค่าเหมาะสม 150 บาท เป็น Top Pick คาดกำไรฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 3 ผ่านการตั้งสำรองก้อนใหญ่ไปมากแล้วจน Coverage Ratio อยู่ในระดับ 170.5% และเริ่มรวมงบของ Permata เต็มไตรมาส

ส่วน TISCO มูลค่าเหมาะสม 85 บาท เป็นหุ้นปันผลที่มีฐานะการเงินและคุณสินทรัพย์แข็งแกร่ง และมีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้เพียง 10% ของพอร์ต อีกทั้งมีจุดเด่นที่ปันผลสูง

“กลุ่มแบงก์ Underperform ตลาดอยู่มาก และหลายตัวซื้อขายด้วยระดับ P/BV ต่ำเพียง 0.4-0.6 เท่า แต่ด้วยความเสี่ยงที่ NPLs จะเริ่มปรับตัวขึ้นในช่วงปลายปีหลังโครงการพักชำระหนี้ทยอยครบกำหนดในเดือน ก.ย.-ต.ค. เรายังคงความระมัดระวังและให้น้ำหนักลงทุนเพียงเท่ากับตลาด ”

แนวโน้มกำไรไตรมาส 3 จะฟื้นจากไตรมาส 2 การตั้งสำรองของหลายแบงก์ (KBANK, BBL, TISCO และ KTB) ผ่อนคลายลง ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมปรับตัวดีขึ้น แต่ปัจจัยบวกบางส่วนจะถูกหักล้างด้วยส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่แคบลง จากผลของการปรับเทอมของการรับรู้ดอกเบี้ยรับของลูกหนี้ภายใต้โครงการพักชำระหนี้ ทำให้รายได้ดอกเบี้ยรับในแต่ละไตรมาสลดลง และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เริ่มเพิ่มขึ้น หลังเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมการตลาดต่างๆ ส่วนทั้งปี 2563 คาดกำไรกลุ่มที่ 134,629 ล้านบาท ลดลง 17.5%จากปีก่อน

KBANK เป็นแบงก์ใหญ่แห่งเดียวที่สินเชื่อในเดือนก.ค.โต 0.8% จากเดือนมิ.ย.และเพิ่มขึ้น 10.2%จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากอัดฉีดสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพิ่มเติมให้กับลูกหนี้กลุ่ม SME และสินเชื่อรายใหญ่มีความต้องการใช้ Term Loan มากขึ้น ชดเชยสินเชื่อลูกหนี้รายย่อยที่ไม่ฟื้น

บล.โนมูระ พัฒนสิน มองลบ กลุ่มธนาคารต่างชาติถือครองใกล้เต็มเพดาน (F-Limited) ระวังแรงขายปรับพอร์ต นำโดย BBL (ต่างชาติซื้อกระดาน F ได้อีกเพียง 4.54 ล้านหุ้น หรือ 0.238%), KBANK (เหลือสัดส่วนต่างชาติ 1.14% หรือ 27ล้านหุ้น), AEONT (เหลือ 1.82%)

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ยังคงคำให้น้ำหนักหุ้นกลุ่มธนาคารเท่ากับตลาด ชอบ TISCO มากที่สุด  เพราะยังสามารถจ่ายเงินปันผลได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ยังคุม NPLs อยู่ได้ และมีสัดส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 สูงถึงเกือบ 18% (CAR สูงถึง 21%)

ธนาคารส่วนใหญ่ไม่ค่อยคึกคักในเดือนก.ค. สินเชื่อทรงตัว แต่เงินฝากยังคงไหลเข้าธนาคาร และเพิ่มขึ้นถึงกว่า 2 เท่าของสินเชื่อ กดดันให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น กดดัน NIM  ในไตรมาสที่ 3 ถึงแม้ว่าราคาหุ้นกลุ่มธนาคารจะถูก แต่กระแสข่าวลบจากประเด็น NPLs และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจนก็จะยังคงกดดันผลประกอบการและจำกัดการปรับขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคารต่อไป

บล.เคจีไอระบุว่า ธนาคารยังมีสภาพคล่องเต็มเปี่ยม โดยเงินฝากเพิ่มขึ้นอีก 0.7% จากเดือนมิ.ย. และ 9% จากระยะเดียวกันปีก่อน ธนาคารส่วนใหญ่มีฐานเงินฝากใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะ KTB (+3% จากเดือนมิ.ย. และ +12%จากปีก่อน) และ SCB (+3% จากเดือนมิ.ย. และ +8% จากปีก่อน) ในขณะที่ฐานเงินฝากของ BAY และ TISCO เพิ่มขึ้น 2% จากเดือนมิ.ย.ทั้งคู่ ซึ่งสะท้อนถึงการโยกเงินออกจากสินทรัพย์เสี่ยงมาอยู่ในรูปเงินฝาก และความเชื่อมั่นในการฝากเงินกับธนาคาร

นอกจากนี้โครงการผ่อนผันหนี้ในปัจจุบันให้จัดชั้นเป็นปกติ (performing loan) และอาจจะกลายมาเป็นความเสี่ยง NPLs ได้ในอนาคต ซึ่งธนาคารบางแห่งเปิดเผยข้อมูลว่า สัดส่วนของหนี้ที่เข้าโครงการผ่อนผันต่อสินเชื่อรวมของ TMB สูงสุดอยู่ที่ 42% รองลงมาคือ BANK ที่ 39% SCB ที่ 32% และ BAY ที่ 29%) ในขณะที่ของ TISCO อยู่ที่ 20% และของ BBL ที่อยู่ในระดับต่ำอย่างไม่มีนัยสำคัญ (จากการเปิดเผยของธนาคาร) ทั้งนี้ ธนาคารส่วนใหญ่มองว่าหนี้ในโครงการประมาณ 70-80% น่าจะกลับมาชำระค่างวดได้ตามปกติ และมีประมาณ 10% ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะกลายมาเป็น NPLs  หากนำตัวเลขนี้เข้ามารวมเป็น จะทำให้ NPLs เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในปีนี้ และธนาคารต่าง ๆ จะต้องกันสำรองเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลัง ส่งผลให้กำไรสุทธิปี 2563 ของทั้งกลุ่มลดลง 45% (กำไรสุทธิกลุ่มธนาคารในครึ่งปีแรก ลดลง 28%)