ความจริงความคิด : ผ่อนรถไม่ไหว ทำไงดี

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ผ่านมาตั้งนาน แม้ว่าสถานการณ์ Covid19 ของไทยจะดีกว่าหลายๆประเทศ ไม่มีคนไทยที่อยู่ในประเทศเป็นโรคมานานหลายเดือนแล้ว แต่เราก็ยังการ์ดตกไม่ได้ แต่ผลสำเร็จด้านการป้องกันมีต้นทุนที่แพงมาก หลายกิจการต้องหยุดชะงัก มีการเลิกจ้าง หรือลดชั่วโมงทำงาน ฯลฯ ทำให้คนที่ทำงานพวก active income ที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถและเวลาของตัวเองแลกเงิน ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือ พวกอาชีพอิสระ หรือพวกรับจ้างรายวัน ฯลฯ เดือดร้อนกันถ้วนหน้า

เพราะรายได้หยุด แต่ค่าใช้จ่ายไม่หยุด แถมดอกเบี้ยก็ไม่หยุดอีกด้วย แม้ว่าทาง ธปท จะออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และมีการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมระยะที่ 2 ทั้งลดดอกเบี้ย ปรับการผ่อนชำระหนี้ ฯลฯ แต่หลายคนก็ยังเป็นกังวล เครียดกับหนี้ที่มีอยู่ๆดี

หนี้หนึ่งที่กังวลกันมาก คือ หนี้รถ เริ่มจะผ่อนไม่ไหว ก็เริ่มสงสัยจะทำอย่างไรดี หลักๆ มีอยู่ 5 วิธีในการแก้ปัญหา แต่จะแก้ปัญหาวิธีไหน ต้องดูความสามารถในการผ่อนชำระของตนเองว่ามีมากหรือน้อยแค่ไหน พูดง่ายๆ คือ ดูรายรับ รายจ่ายของตัวเอง ว่าสามารถผ่อนต่อได้ในระดับไหน และดูมูลค่ารถยนต์ที่เป็นหลักประกันมีราคาต่ำกว่าภาระหนี้แค่ไหน เพื่อจะได้ใช้ในการพิจารณาเลือกทางออกที่เหมาะสม

สำหรับ 5 ทางออก มีดังนี้

1. คืนรถ

กรณีการคืนรถโดยผิดสัญญา หรือ ค้างผ่อนชำระหลายงวด โดยจะต้องชำระค่าเสียหาย ค่าขาดประโยชน์ อื่นๆ ยิ่งค้างชำระหลายงวดจะยิ่งเสียค่าเสียหายจำนวนมาก

กรณีการคืนรถโดยที่ไม่ผิดสัญญา หรือ ไม่ได้ค้างผ่อนชำระ ลักษณะนี้ ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายหรือค่าขาดประโยชน์ใดๆ เนื่องจากไม่ได้ค้างชำระ ไฟแนนซ์จะคิดเพียงค่าส่วนต่างเวลาที่ขายรถและขาดทุนเท่านั้น

สรุปง่ายๆ ก็คือ การคืนรถไม่ได้หมายถึงหนี้หมด เหมือน set zero เริ่มต้นกันใหม่อย่างที่หลายคนเข้าใจนะ ภาระหนี้ที่เราติดอยู่กับไฟแนนซ์ยังมีอยู่เหมือนเดิม สมมติ 1 ล้านบาท เมื่อเราคืนรถ ไฟแนนซ์จะเอารถไปประมูลขาย สมมติขายได้ 4 แสนบาท เราก็ยังเป็นหนี้ที่ต้องชำระไฟแนนซ์ เท่ากับ 1,000,000 – 400,000 = 600,000 บาทนะ

2. รีไฟแนนซ์หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่

โดยส่วนใหญ่ ไฟแนนซ์มีแนวทางในการช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น การปรับลดค่างวด หรือยืดเวลาการผ่อนชำระ ฯลฯ แต่วิธีนี้จะทำให้ภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายสูงมากขึ้นด้วย ถ้าเลือกวิธีนี้ควรรีบดำเนินการก่อนที่จะเริ่มค้างชำระเพื่อเป็นการรักษาประวัติเครดิตของเราเอง

3. ขายให้บุคคลอื่นโดยไม่ได้เปลี่ยนสัญญา

ขายให้บุคคลอื่นโดยที่ยังไม่ได้เปลี่ยนสัญญา โดยผู้เช่าซื้อยังเป็นเราเหมือนเดิมอยู่ กรณีนี้ค่อนข้างเสี่ยงอย่างมากๆ ถ้าคนซื้อไม่ยอมไปปิดไฟแนนซ์หรือไม่ยอมผ่อนต่อ ผลก็จะตกกับเราเพราะทางไฟแนนซ์ถือว่าเรายังเป็นหนี้ไฟแนนซ์อยู่ ถ้าไปตามเอาเงินจากคนที่ซื้อไม่ได้ เราก็ต้องผ่อนต่อไป แต่ถ้าไม่มีเงินไปผ่อนหรือไม่ยอมผ่อนต่อ เพราะคิดว่าขายรถไปแล้วไฟแนนซ์ควรไปตามทวงหนี้คนซื้อเอง เพราะสัญญาซื้อขายก็มี ขอบอกไว้เลยนะครับว่า “สัญญาซื้อขายจะเป็นหลักฐานมัดตัวผู้ขาย” เองนะ เพราะอย่างที่เคยย้ำเสมอ รถติดไฟแนนซ์ ไฟแนนซ์เป็นเจ้าของรถ เราเป็นแค่ผู้ครอบครอง เราไม่มีสิทธิ์เอารถไฟแนนซ์ไปขาย ทางไฟแนนซ์มีสิทธิ์ที่จะฟ้องเราข้อหายักยอกทรัพย์ได้ครับ

4. การขายให้บุคคลอื่นโดยเปลี่ยนสัญญา

วิธีนี้จะดีมากๆกรณีที่มูลค่ารถเราสูงกว่าหนี้ ควรพิจารณาตัดใจลดภาระด้วยการขายรถคันดังกล่าว จะขายเต็นท์ หรือขายดาวน์ เพื่อให้ผู้ซื้อรายใหม่มารับโอนสัญญาเช่าซื้อไปผ่อนต่อก็ได้ ข้อดีจากการโอนสัญญาเช่าซื้อคือ ไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มซ้ำซ้อน เนื่องจากค่างวดเดิม มีการคิดภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่แล้ว ดีกว่าการปิดบัญชีเดิม และไปกู้ใหม่ เนื่องจากจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตอนปิดบัญชีหนึ่งครั้ง และเมื่อกู้ใหม่ก็จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีกหนึ่งครั้ง นอกจากนี้ยังเป็นการรักษาประวัติเครดิตของผู้กู้ได้อีกทางหนึ่งด้วย

แต่ถึงรถเรามีมูลค่าต่ำกว่าหนี้ ถ้าเลือกวิธีนี้ ก็ควรรีบขายให้เร็วที่สุด เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ต่ำที่สุด เพราะรถยิ่งอายุเยอะ ราคายิ่งตก จะทำให้เราต้องแบกรับภาระค่าเสียหายที่สูงขึ้นด้วย

การขายแบบเปลี่ยนสัญญา และนำเงินที่ได้ไปปิดจ่ายไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด แต่อาจจะต้องยอมขายขาดทุน เพื่อแลกกับเวลาและค่าใช้จ่ายที่จะตามมาในอนาคตปลอดภัยทั้งคนค้ำประกัน ปลอดภัยทั้งผู้เช่าซื้อด้วย จะเป็น

• แบบซื้อด้วยเงินสดครบเต็มจำนวน เช่น ตกลงซื้อขายกัน 600000 แล้วรถติดไฟแนนซ์ 500000 ในวันที่จะทำการซื้อขายกัน ก็ให้ผู้ซื้อเอาเงินจ่ายปิดบัญชีไป 500000 แล้วก็จ่ายที่เหลือให้กับผู้ขายไปอีก 100000 แล้วแจ้งให้ไฟแนนซ์โอนรถข้ามเป็นชื่อผู้ที่มาซื้อไปเลย แต่ตอนปิดสัญญาผู้ขายผู้ซื้อต้องไปจ่ายด้วยกันเท่านั้น เพราะทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต้องเก็บสำเนาใบเสร็จการปิดบัญชีกับสัญญาซื้อขายไว้เป็นหลักฐานด้วย

• แบบเปลี่ยนคู่สัญญา คือ ขอเปลี่ยน”ผู้เช่าซื้อ”ที่ไฟแนนซ์ โดยที่ผู้ขายและผู้ซื้อต้องไปด้วยกัน วิธีนี้ผู้ซื้อจะได้ประโยชน์ตรงที่ได้ผ่อนต่อในสัญญาเดิมที่ผู้ขายได้ผ่อนไปแล้ว บางส่วนทำให้ประหยัดดอกเบี้ยไป

5. เจรจาขอผ่อน เฉพาะดอกเบี้ยไปก่อน

โดยยังคงต้นเงินไว้ เผื่อในอนาคต ผู้เช่าซื้ออาจจะมีเงินก้อนไปปิด ก็จะทำให้เจรจาได้ง่ายขึ้น

สรุปสุดท้าย มีปัญหาควรติดต่อกับสถาบันการเงิน หรือ ไฟแนนซ์ ให้เร็วที่สุด แต่ถ้าหากการเจรจาไม่เป็นผล แนะนำให้ปรึกษาธนาคารแห่งประเทศไทย ทางด่วนแก้หนี้ หรือโทร 1213