HoonSmart.com>>ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ฯเพิ่มความแข็งแกร่งจากโควิด พลิกฟื้นฟูธุรกิจโรงแรม อาหาร ไลฟ์สไตล์ได้เร็วกว่าที่คาด ลดต้นทุนเข้มข้น หนุนรายได้ถึงจุดคุ้มทุนเร็วขึ้น มีกระแสเงินสด 36,000 ล้านบาท วงเงินจากแบงก์อีก 26,000 ล้านบาท ธุรกิจไปได้สบาย พร้อมชำระหนี้ปลายปี 3,500 ล้านบาท ปีหน้า 4,000 ล้านบาท ดึงลูกค้ากลับมาใช้บริการจากความน่าเชื่อถือของแบรนด์ ผสมการจัดแคมเปญ
นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) เปิดเผยว่า ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัทได้จัดทำโรดแมป 3 ระยะ โดยเฟสแรกเป็นการรับมือในช่วงล็อกดาวน์ เพื่อรักษาสภาพคล่อง ปัจจุบันอยู่ในระยะที่สอง เริ่มที่พยายามฟื้นธุรกิจ และรับมือกับความต้องการของตลาดจะกลับมาได้อย่างไรในอนาคต โดยพยายามลดกระแสเงินสดออกให้น้อยที่สุด
ปัจจุบันบริษัทสามารถลดต้นทุนลงได้ประมาณ 25% ของต้นทุนที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา แต่หากเทียบกับงบที่ตั้งไว้ในปีนี้ สามารถลดได้ 30% ค่อนข้างมาก เพราะสามารถลดในส่วนของเงินเดือนถึง 60% ส่วนค่าเช่า มีการต่อรองขอลดราคา หรือเลื่อนการชำระ สำหรับงบลงทุนตัดการใช้เงินลงทุนประมาณ 7,000-1 หมื่นล้านบาท บริษัทจะลงทุนในโครงการที่มีความจำเป็นเท่านั้น และไม่มีโครงการใหม่ๆ นอกจากนั้นในปีนี้ ไม่ได้จ่ายเงินปันผลด้วย
นายชัยพัฒน์ กล่าวว่า โรงแรมของบริษัทได้เปิดให้บริการแล้ว 75% ร้านอาหารเปิดมากกว่า 95% ส่วนธุรกิจไลฟ์สไตล์เปิดให้บริการแล้วเกือบ 100% คาดว่าในครึ่งปีหลังผลดำเนินงานจะดีขึ้นจากช่วงที่มีการล็อกดาวน์จนทำให้ขาดทุน และปี 2564 ผลประกอบการจะกลับมาเติบโตได้ หากมีการเปิดประเทศ แต่ตอบไม่ได้ว่าจะมีกำไรเมื่อไร เพราะมีต้วแปรหลายปัจจัย
” เราผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 มาแล้ว คาดครึ่งหลังปี 2563 จะฟื้นตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากการกลับมาเปิดของธุรกิจต่างๆ เราลดต้นทุนลงมามาก ทำให้ถึงจุดคุ้มทุนเร็วขึ้น ในส่วนธุรกิจอาหาร ก่อนเกิดโควิด จะต้องมีรายได้ 3,000 ล้านบาทต่อเดือน จะถึงจุดคุ้มทุน ตอนนี้มีรายได้ประมาณ 2,600 ล้านบาทต่อเดือน ก็ถึงจุดคุ้มทุนแล้ว ยอดขายทำได้แล้ว ในเดือนมิ.ย.-ก.ค.ที่ผ่านมา ถือว่าดีกว่าที่คาดการณ์ บริษัทมีจุดเด่นเรื่องเดลิเวอรี่ สั่งอาหารทางออนไลน์ ในเดือนเม.ย. ยอดขายทางนี้โตเกือบ 200% เดือนพ.ค. โตกว่า 100% หลังจากนั้นเริ่มลดลง ร้านอาหารที่นั่งทานในร้านเปิดให้บริการมากขึ้น ในเดือนมิ.ย. -ก.ค. ธุรกิจส่งอาหารยังโตมากกว่า 50%”นายชัยพัฒน์กล่าว
ส่วนธุรกิจโรงแรม อัตราการเข้าพักเพียง 30-40% ก็จะมีรายได้ถึงจุดคุ้มทุน ไม่ต้องมากถึง 50-60% เมื่อก่อนช่วงโควิด โดยเมื่อเดือนก.ค. อัตราการเข้าพักใกล้ถึงจุดคุ้มทุนแล้ว ในยุโรปอาจจะยังห่าง เพราะเกิดโควิดระบาดรอบสอง คาดว่าในไตรมาส 3 และ 4 ไปถึงได้ ส่วนออสเตรเลีย และนิวซีเแลนด์ เปิดดำเนินการปกติ ก็ผ่านจุดคุ้มทุนแล้ว ส่วนในประเทศไทยตามแหล่งท่องเที่ยวก็เริ่มเห็นนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาดีขึ้น บริษัทผลักดันโครงการ Travel Bubble เพื่อให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ปัจจุบันกำลังเจรจากับทางภาครัฐ
สำหรับธุรกิจไลฟ์สไตล์ ยังมีการเติบโตที่ดี ในช่องทางการขายผ่านออนไลน์ มีการผลิตสินค้าใหม่ เช่น น้ำยาฆ่าเชื้อ ช่วยเพิ่มยอดขายและกระแสเงินสด ในอนาคตยังช่วยลดต้นทุน เพิ่มมาร์จิ้นให้กับธุรกิจโรงแรมและอาหารของบริษัทด้วย
นายชัยพัฒน์กล่าวว่า บริษัทมีกระแสเงินสดดีขึ้น จากในไตรมาสแรก – 6,400 ล้านบาท ไตรมาส 2 ติดลบ 8,700 ล้านบาท เพราะมีการล็อกดาวน์ เมื่อคิดเป็นรายเดือน พ.ค. -2,900 ล้านบาท เดือนมิ.ย. มีการตัดค่าใช้จ่าย ลดเหลือ -2,100 ล้านบาท ส่วนสภาพคล่อง ไม่มีปัญหา มีการออกหุ้นกู้ และเพิ่มทุน สามารถจัดการหนี้สินที่จะครบชำระใน 12 เดือนข้างหน้า คือครึ่งหลังของปีนี้ 3,500 ล้านบาท ครึ่งปีหน้า ครบ 4,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีเงินสดในมืออยู่ประมาณ 36,000 ล้านบาท และวงเงินจากสถาบันการเงินอีกประมาณ 26,000 ล้านบาท รวมสูงถึง 60,000 ล้านบาท
“ฐานะการเงินมีความแข็งแกร่ง หลังจากขอผู้ถือหุ้นกู้และธนาคารเจ้าหนี้ ในการผ่อนผันข้อกำหนดสิทธิ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E) ทุกไตรมาส ต้องห้ามเกิน 1.75 เท่า โดยขอผ่อนผันผันไปถึงมี.ค.ปี2564 ทั้งนี้ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 D/E อยู่ที่ 1.63 เท่า การเพิ่มทุนแบบเบ็ดเสร็จ ทำให้ D/E ลดลงเหลือ 1.45 เท่า และ 1.3 เท่า เพราะมั่นใจว่าผู้ถือหุ้นจะแปลงวอร์แรนต์ชุดใหม่ มีเงินเข้ามาอีก 5,000 ล้านบาท”
สำหรับแผนงานในอนาคต สิ่งที่สำคัญที่จะเรียกลูกค้ากลับมาหลังโควิด คือความน่าเชื่อถือของแบรนด์ ซึ่งมั่นใจว่าบริษัทมี และจะมีการออกแคมเปญ รวมถึงการใช้จุดเด่น คือมีแพลตฟอร์มค่อนข้างใหญ่ มีคนส่งอาหารมากกว่า 3,000 คน บริการสปา พันธมิตร ซัพพลายเชน ช่วยให้เติบโตไปได้ หลังจากปรับองค์กร ปรับขบวนการทำงานดิจิทัล จะใช้ประโยชน์และต่อยอดธุรกิจอาหารต่อไป