ลดน้ำหนักรับเหมา “STEC” เด่น

บล.เอเซียพลัสลดน้ำหนักการลงทุนหุ้นรับเหมาฯ คาดรัฐเปิดประมูลงานทันปีนี้เพียง 4.7 แสนล้านบาท ห่างจากเป้าที่คาดไว้ 8 แสนล้านบาท STEC-SEAFCO น่าสนใจ มีแบ็กล็อกในมือมาก

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ปรับลดน้ำหนักการลงทุนหุ้นรับเหมาก่อสร้างเป็นน้อยกว่าตลาด หลัง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังที่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. 2561 ทำให้โครงการที่จะประมูลงานได้ภายในปี 2561 น่าจะลดลงจากที่คาดไว้ 8 แสนล้านบาทเหลือเพียง 4.7 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อประมาณการกำไรของกลุ่มรับเหมาฯ ในปี 2561-2562 อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากผู้รับเหมารายใหญ่ล้วนมีงานในมือที่ทยอยรับรู้รายได้หรือแบ็กล็อก รวมกันประมาณ 4.8 แสนล้านบาท รองรับรายได้ในอีก 2-4 ปี

นอกจากนี้บริษัทรับเหมาฯยังรับงานภาคเอกชน ทั้งคอนโดมิเนียม และงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าและโรงงานปิโตรเคมี เชื่อว่าประมาณการกำไรสุทธิปี 2561 ยังมีความเป็นไปได้ (เติบโตถึง 601%จากฐานที่ต่ำในปีก่อน) แต่แรงขับเคลื่อนสำคัญของราคาหุ้นในกลุ่มฯ จะมาจากความคาดหวังเกี่ยวกับงานประมูลภาครัฐเป็นหลัก ทำให้กลุ่มรับเหมาฯ มีความน่าสนใจน้อยลงในระยะนี้

“ยังมีหุ้นที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งและมีแบ็กล็อกอยู่ในมือจำนวนมาก คือ STEC มูลค่าเหมาะสม 25 บาท และ SEAFCO มูลค่าเหมาะสม 10.91 บาท “บล.เอเซียพลัสระบุ

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (25-29 มิ.ย.2561) หุ้นรับเหมาฯถูกเทกระจาดอย่างหนัก ทุบราคาหุ้นร่วงหนักกว่าตลาด นำโดย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น(STEC) รูดลงแรง 3.10 บาท หรือ 14.62% จากระดับ 21.20 บาทเหลือ 18.10 บาท บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ร่วงลง 0.34 บาทหรือ 11.25% จากระดับ 3.02 บาทเหลือ 2.68 บาท บริษัท ช.การช่าง (CK) ลดลง 1.85 บาทหรือ 7.18% จาก 25.75 บาทเหลือ 23.90 บาท

สำหรับพ.ร.บ.การเงินการคลังทำให้ขั้นตอนที่จะนำไปสู่การประมูลโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐต้องใช้เวลามากขึ้น เนื่องจากมีขั้นตอนในส่วนของการพิจารณาโดยคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง (มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) ในหลายแง่มุม เช่น ความคุ้มค่าทางการเงิน การรักษาวินัยทางการคลัง ความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ไปแล้ว จะต้องนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ทำให้ต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อมของโครงการเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันพบว่าหลายโครงการขนาดใหญ่ยังไม่ผ่านการพิจารณาของ ครม. ทําให้ต้องไปดําเนินขั้นตอนของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังเพิ่มขึ้น คาดว่าหลายโครงการจะไม่สามารถเปิดประมูลได้ทันภายในปี 2561 ตามแผน