HoonSmart.com>>บริษัทใน SET-mai ประกาศไตรมาส 2/63 กำไรรวม 116,891 ล้านบาท ทรุดลง 46% ครึ่งปีเก็บได้ 2 แสนล้านบาท หายวัย 58% แย่กว่าคาด นักวิเคราะห์แห่ปรับลดประมาณการปีนี้ บล.ดีบีเอสฯคาดไว้ -26% คงเอาไม่อยู่ TMB ยอมรับปีนี้ผลงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สินเชื่อลด-ตั้งสำรองเพิ่ม สภาพัฒน์ปรับลดเป้าเศรษฐกิจทั้งปีหดตัว -7.5% ธปท.เผยไตรมาส 2 รูดลง -12.2% ดีกว่าที่คาด รอทบทวนเป้าใหม่เดือนก.ย. จากที่คาดไว้ -8.1% หุ้นร่วงติดต่อวันที่สอง
นางอาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)เปิดเผยว่าได้รวบรวมข้อมูลกำไรของบริษัทจดทะเบียน(บจ.) ประมาณ 90% ของทั้งหมด ปรากฎว่า อ่อนแอมาก งวดไตรมาสที่ 2/2563 มีกำไรสุทธิรวม 117,090 ล้านบาท ดิ่งลง 47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ดีขึ้น 33% จากไตรมาสแรก รวม 6 เดือนปีนี้มีกำไรสุทธิ 206,266 ล้านบาท แย่ลงถึง 58% จากระดับกำไรสุทธิ 448,056 ล้านบาท
ทั้งนี้หากรวมบริษัทในตลาดหลักทรัพย์(mai) ด้วย ไตรมาส 2 ปีนี้มีกำไรสุทธิ 116,891 ล้านบาท ทรุดลง – 46% และดีขึ้น 34% จากไตรมาสแรก รวมครึ่งปี กำไรสุทธิ 205,395 ล้านบาท หดตัวลง -58% เช่นเดียวกัน ซึ่งผลที่ออกมาทำให้ต้องปรับลดประมาณการทั้งปีใหม่ จากเดิมคาดว่าจะหดตัว-26% หากเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่มาก
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งไตรมาส 3/63 และไตรมาส 4/63 จะมีการตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพราะความเสี่ยงของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด และบางส่วนอาจจะกลับมาชำระหนี้ไม่ได้ หลังจากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ไปแล้ว แม้ว่าในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาได้ตั้งสำรองเพิ่มแล้วก็ตาม
ส่วนแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปถึงปี 2564 ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงของมาตรการพักชำระหนี้ ทำให้ยังไม่เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง ธนาคารตั้งเป้าควบคุมให้ไม่เกิน 3% จากไตรมาส 2 ที่ 2.3% ส่วนแนวโน้มสินเชื่อในปี 2563 คาดว่าจะหดตัวลง จากเดิมที่คาดว่าจะทรงตัวจากปีก่อน เพราะความต้องการใช้สินเชื่อลดลง และธนาคารมีแผนงานหลักจะต้องป้องกันความเสี่ยงหนี้เสียที่มีโอกาสเพิ่มขึ้น และการเดินหน้าช่วยเหลือลูกค้าอย่างเต็มที่ ธนาคารจะไม่เน้นขยายสินเชื่อมากนัก ปัจจุบัน พอร์ตสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท
“ผลการดำเนินงานในปีนี้อาจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากแรงกดดันของแนวโน้มหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น การตั้งสำรองฯเพิ่ม และการหดตัวของสินเชื่อ รวมทั้งมาตรการพักชำระหนี้ ทำให้รายได้ลดลงและรายได้ใหม่ไม่เข้ามา แต่ในด้านความมั่นคงและเสถียรภาพของธนาคารยังมีความแข็งแกร่ง มีฐานทุนแข็งแรงรองรับความไม่แน่นอนได้อีก 2 ข้างหน้า ปี 64 และ 65 โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน”นายปิติกล่าว
นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 2 สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น 5% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และจาก 4.1% ในไตรมาสก่อน คาดว่ารวมทั้งปี 63 จะขยายตัว 5% มองว่าในช่วงครึ่งปีหลัง ธุรกิจขนาดใหญ่จะเติบโตได้หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ในขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคยังอยู่ใกล้เคียงกับระดับปัจจุบัน ส่วน NPLs ณ สิ้นปี คาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบันที่ 3%
สำหรับอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (NIM) ลดลงมาอยู่ที่ 2.60% จากไตรมาสก่อนที่ 2.90% เป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลงตามภาวะตลาดและนโยบาย
ด้าน นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์ศรษฐกิจ ในปี 2563 ลงมาเหลือ 7.5% อยู่ในกรอบ -7.8% ถึง -7.3% จากเดิมที่คาดไว้ในช่วง -6.0% ถึง -5.0% หลังจากไตรมาส 2 หดตัวถึง 12.2% รวมครึ่งปีติดลบ -6.9%
ขณะเดียวกัน นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2 หดตัวสูงที่ 12.2% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน หรือหดตัว 9.7%จากไตรมาสก่อน เมื่อเทียบกับประมาณการล่าสุดของ ธปท. ในเดือนมิ.ย. 2563 ที่ -8.1% พบว่าหดตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้ โดยยังประเมินว่าเศรษฐกิจได้พ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 และจะทยอยปรับดีขึ้นในระยะข้างหน้า แต่เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากและต้องการแรงสนับสนุนด้านความต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐ ทั้งนี้ ธปท. จะมีการประเมินการขยายตัวเศรษฐกิจและเผยแพร่อีกครั้งในรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือนก.ย.2563
ด้านตลาดหุ้นวันที่ 17 ส.ค. ปักหัวลงแรงติดต่อวันที่สอง ระหว่างวันร่วงไปกว่า 11 จุด ก่อนฟื้นมาปิดที่ 1,320.91 จุด -6.14 จุด หรือ -0.46% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 47,812 ล้านบาท เนื่องจากนักลงทุนสถาบันไทยทิ้ง 2,118 ล้านบาท ส่วนต่างชาติซื้อเล็กน้อย 0.26 ล้านบาท จากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาขายมากกว่า 3พันล้านบาท