สภาพัฒน์ลดเป้า GDP ปี 63 หดตัว -7.8 ถึง -7.3% ส่วน Q2-12.2%

HoonSmart.com>>สภาพัฒน์ฝืนไม่ไหว  เศรษฐกิจครึ่งปี 63 หดตัว -6.9% ปรับเป้าปีนี้ลงเหลือ -7.5% เหตุรายได้-นักท่องเที่ยวลดลงมาก  เศรษฐกิจโลกหดตัว -4.5% การเมืองเสี่ยง หากได้วัคซีน   กว่าจะฟื้นต้องรอครึ่งหลังปี 64   ในไตรมาส 2 คนว่างงานถึง 7.5 แสนคน อัตรา 1.95% สูงสุดในรอบกว่า 10 ปี หนี้ครัวเรือนเพิ่ม  ธนาคารกสิกรไทยเผยไทยเจอภาวะถดถอย 

ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ได้ปรับลดคาดว่าเศรษฐกิจในปี 2563 ลงมาเหลือ 7.5% อยู่ในกรอบ -7.8% ถึง -7.3% จากเดิมที่คาดไว้ในช่วง -6.0% ถึง -5.0% เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากต่างชาติที่ลดลงมาก, ภาวะความถดถอยรุนแรงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก, ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ และปัญหาภัยแล้ง

การปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้นั้น อยู่ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจโลกหดตัว -4.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 43 ดอลลาร์/บาร์เรล ค่าเงินบาทเฉลี่ย 31.30 บาท/ดอลลาร์ การส่งออกลดลง -10% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.7 ล้านคน รายได้การท่องเที่ยว 3.1 แสนล้านบาท อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ประมาณ 91.8% ส่วนการชุมนุมทางการเมืองถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจ หากความขัดแย้งขยายวงกว้างออกไปจะยิ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนรวม ถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้จะฟื้นตัวได้เร็วหรือช้า ยังต้องขึ้นกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในทั่วโลกว่าจะมีการผลิตวัคซีนออกมาใช้ได้เร็วหรือไม่ ถ้าออกมาได้เร็วก็เชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

” ในครึ่งปีแรก GDP หดตัว -6.9% หลังจากไตรมาสที่ 2 หดตัว -12.2%เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนและหดตัว -9.7%จากไตรมาสแรก ดีกว่าที่ตลาดคาด -13% ถึง -17% การล็อกดาวน์ มีการปิดประเทศ ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น”

นายทศพร กล่าวว่า ในวันที่ 19 ส.ค.นี้จะมีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19(ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ) ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก คาดว่าจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ โดยเฉพาะการดูแลผู้ประกอบการ SME และผู้ประกอบการรายเล็ก (Micro SME)

ส่วนเศรษฐกิจภาคสังคม สภาพัฒน์ เผยไตรมาสที่ 2/2563 มีผู้ว่างงาน 7.5 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.95% สูงสุดนับแต่ไตรมาสที่ 2/2552 และไตรมาสแรก หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 3.9% ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า

ด้านธนาคารกสิกรไทยเปิดเผยว่าตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ออกมาติดลบ สะท้อนว่าไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว แม้ว่า เศรษฐกิจหดตัวน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ -13.0% ขณะที่ สศช. ปรับปรุงตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 1 เป็น -2.0%จากช่วงเดียวกันปีก่อนและ  -2.5 %จากไตรมาสที่ 4/2562 จากประกาศครั้งก่อนที่ -1.8%และ-2.2%

เศรษฐกิจทุกภาคส่วนหดตัว เนื่องจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 แต่มีปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจจากการก่อสร้างของภาครัฐ ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ การระบาดของโควิด-19 ภัยแล้ง และการเมืองในประเทศ