NPS ปลื้มหุ้นกู้ขายเกลี้ยงเกินเป้า อวดกำไร 996 ล้านบ.

HoonSmart.com>>เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย  ปลื้มระดมทุนหุ้นกู้   3,681.90 ล้านบาท เกินเป้าหมายที่เสนอขาย 3,000 ล้านบาทและหุ้นกู้สำรอง 2,000 ล้านบาท  โชว์งบสวยครึ่งปีแรกเติบโตได้ตามเป้าหมาย มีรายได้รวม 7,914 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 และกำไรสุทธิ 996 ล้านบาท

บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย  (NPS)  รายงานการเสนอขายหุ้นกู้ รวมกันทั้งสิ้น 3,681.9 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายหุ้นกู้หลัก ที่ตั้งเป้าไว้ 681.9 ล้านบาท  ซึ่งเงินจากการระดมทุนนี้ สามารถบริหารจัดการธุรกิจให้เติบโตต่อเนื่องในระยะยาว และให้การสนับสนุนกิจการของบริษัทฯ ด้วยดีมาตลอด

สำหรับหุ้นกู้ NPS   แบ่งเป็นหุ้นกู้ชนิดที่มีระยะเวลาไถ่ถอน 3 ปี 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.70 ต่อปี จำนวน 1,500 ล้านบาท และชนิดที่มีระยะเวลาไถ่ถอน 5 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5.20 ต่อปี จำนวน 1,500 ล้านบาท และหุ้นกู้สำรอง(Greenshoe) จำนวน 1,000 ล้านบาท

ด้านผลประกอบการ งวด 6 เดือน (มกราคม – มิถุนายน) 2563  บริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 7,914 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน  5.6 %  และมีกำไรสุทธิจำนวน 996 ล้านบาท เปรียบเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน มีรายได้  962 ล้านบาท  โดยผลดำเนินงาน เป็นไปตามแผนงานและประมาณการณ์ที่แจ้งกับผู้ถือหุ้นกู้-นักลงทุนทั่วไป ในช่วงเดือนมิ.ย. – ก.ค.ที่ผ่านมา

ผู้บริหารของ NPS ชี้แจงว่า ผลประกอบการที่ดีขึ้นในปี 2563 มาจากการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของโรงไฟฟ้า และโรงงานผลิตเอทานอล ที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 และการบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิง รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างเข้มข้นมากขึ้นในปี 2563

ทั้งนี้ผลประกอบการสำหรับครึ่งแรกของปี 2563 ดังกล่าว ยังไม่ได้รวมรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการที่รัฐบาลมีมติอนุมัติให้ กฟผ. ปรับโครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก (SPP) ตามสัญญา PPA เดิมเป็นแบบ Feed-in-Tariff (FIT) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2562 ซึ่งบริษัทอยู่ในระหว่างดำเนินการแก้ไขสัญญา PPA ที่มีกับ กฟผ.

คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2563 หลังจากนั้นบริษัทจะสามารถบันทึกรายการปรับปรุงรายได้สำหรับไตรมาส 2 ปี 2563 ที่เพิ่มขึ้นจากการปรับราคาขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า 3, 4, 5, 6 และ 11 ของบริษัท สำหรับช่วงเวลาตั้งแต่ 16 ธันวาคม จนถึง 30 มิถุนายน 2563 รวมจำนวนประมาณ 104 ล้านบาท ในไตรมาส 3 ปี 2563 ด้วย

สำหรับ NPS เป็นหนึ่งในผู้ประกอบชั้นนำในอุตสาหกรรมพลังงาน และโรงไฟฟ้าชีวมวล มีกำลังการผลิตรวมกว่า 726.05 เมกะวัตต์เป็นผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลอันดับหนึ่งของไทย ปัจจุบันมีโครงสร้างธุรกิจครอบคลุมใน 3 ด้านได้แก่ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ ธุรกิจผลิตน้ำเพื่ออุตสาหกรรม และธุรกิจผลิตเอทานอล โดยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เอ็นพีเอสได้ร่วมสนับสนุนหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาล และชุมชนเพื่อเพิ่มสุขอนามัย ให้ชุมชนสามารถต่อสู้กับโควิด-19 ได้อย่างเข้มแข็ง