HoonSmart.com>>บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 2/2563 ออกมาแล้ว ส่วนใหญ่เป็นไปตามประมาณการ ยกเว้นภาคบริการ ที่ขาดทุนหนักกว่าที่คาด นำโดย ธุรกิจสายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร นักวิเคราะห์และผู้บริหารบริษัทต่างประกาศลั่น ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นเช่นนั้น หลังจากประเทศไทยและในหลายประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่ต้องยอมรับว่า แนวโน้มในไตรมาสที่ 3 บริษัทหลายแห่งยังคงประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง เป็นเพราะ…
เช้าวันจันทร์ที่ 17 ส.ค. 2563 “ทศพร ศิริสัมพันธ์ “เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ จะแถลงตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2563 ซึ่งนักวิเคราะห์ของบล.เคจีไอ(ประเทศไทย) คาดว่า GDP จะหดตัวถึง -18.4% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรก ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะหดตัว -13ถึง-14% ซึ่งจะต้องลุ้นว่า จะออกมาติดลบมากขนาดไหน
และที่สำคัญสภาพัฒน์จะมีการปรับลดประมาณการ GDP ของปีนี้ลงเหลือเท่าไร จากที่คาดว่าจะหดตัวเพียง 5-6% ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้แล้วในสถานการณ์ปัจจุบัน และห่างจากเป้าหมายที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพิ่งปรับลดคาดการณ์ GDP ลงพรวดเดียว จาก -5.3% เหลือ -8.1% หนักกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 เสียอีก
เศรษฐกิจไทยคงหนีไม่พ้นที่จะดิ่งลงเหวลึกที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับต่างประเทศ นำโดย สหรัฐอเมริกาหดตัวถึง-32.9% เทียบกับไตรมาสแรก ต่ำที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา และเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการหดตัวต่อเนื่อง จาก-5% ในไตรมาส 1 ส่วนสิงคโปร์หดตัว -41.2% ขณะที่จีนพลิกกลับมาขยายตัวได้ถึง +3.2% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ถือว่าดีเกินคาดการณ์ จากไตรมาสแรกหดตัว -6.8%
“ไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยหดตัวแรง เพราะนักท่องเที่ยวต่างประเทศหายไปเกือบทั้งหมดจากมาตรการล็อกดาวน์ ฉุดกำลังซื้อทรุดลงอย่างรวดเร็ว การส่งออกเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาที่ติดลบ 23.17% ต่ำสุดใน 131 เดือน ส่วนภาคเอกชนขาดสภาพคล่อง ต้องหยุดหรือชะลอการลงทุน พร้อมกับลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด ถึงเลิกจ้างงาน ก็ต้องทำ ส่งผลกระทบต่อ ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน มีบริษัทจำนวนมากที่ขาดทุนสูงหลายพันล้านบาท โดยเฉพาะธุรกิจการบิน จนนำไปสู่การยื่นเข้าฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ของบริษัท การบินไทย(THAI) และบริษัทสายการบินนกแอร์(NOK) เพราะมีหนี้สินล้นพ้นตัว ”
สำหรับบริษัทที่มีความแข็งแกร่ง ปรับตัวได้ รวมถึงบริษัทที่มีธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็มีกำไรเป็นพันล้านบาท อาทิ STGT ผู้นำธุรกิจถุงมือยาง ประกาศกำไรสุทธิถึง 1,057 ล้านบาท สูงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมานานกว่า 31 ปี กลุ่มปตท. นำโดยบริษัท PTT,PTTEP,PTTGC,GPSC,TOP และ IRPC ได้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น และมาตรการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ส่งผลให้มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 22,010 ล้านบาทพลิกจากไตรมาสแรกที่ประสบปัญหาขาดทุนถึง -22,805 ล้านบาท
ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขาลง บริษัทประกาศผลงานออกมาคละกัน บางแห่งกำไรโตขึ้นมาก ส่วนพี่ใหญ่ LH มีกำไรสุทธิ 1,394 ล้านบาท ลดลง 24.73% จากที่มีกำไรสุทธิ 1,852 ล้านบาท ครึ่งปีมีกำไรสุทธิ 2,739 ล้านบาท ลดลง 25.53% จากที่มีกำไรสุทธิ 3,678 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้บริษัทจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลเพียง 0.20 บาทต่อหุ้น ลดลงจากกลางปีก่อนแจก 0.30 บาท
เช่นเดียวกับบริษัท PSH จ่ายเงินปันผลหุ้นละ 0.31 บาท ลดลงมากจากกลางปี 62 จ่าย 0.60 บาท เพราะปีนี้กำไรสุทธิหายไปกว่า 50% ไตรมาส 2 เหลือจำนวน 416 ล้านบาท และ 6 เดือนมีกำไรสุทธิ 1,339 ล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิ 2,618 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน
ด้านผู้บริหารบริษัทหลายแห่งต่างประกาศความมั่นใจว่า ผลงานได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์มองตรงกันว่าแนวโน้มดีขึ้น แต่บริษัทจำนวนมากยังคงประสบปัญหาขาดทุนในไตรมาสที่ 3- 4 และอาจจะต่อเนื่องในปี 64 เพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ขณะที่บริษัทยังคงมีค่าใช้จ่ายคงที่สูง แม้ว่าจะพยายามลดลงหลายช่องทางแล้วแต่รายได้ก็เติบโตไม่ทัน
บจ.ยังต้องเหนื่อยต่อไปในไตรมาสที่ 3 ท่ามกลางเศรษฐกิจหดตัวต่อ แม้ว่ารัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศมหาอำนาจ นำโดยสหรัฐ ได้ทุ่มเม็ดเงินมหาศาล หลายล้านล้านดอลลาร์อัดฉีดเข้าระบบแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม แต่กลับชะงักงัน พรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตยังตกลงกันไม่ได้ สัปดาห์นี้ต้องติดตามการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินสหรัฐ (เฟด) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18-19 ส.ค.นี้ ว่าจะส่งสัญญาณเรื่องนโยบายการเงินอย่างไรบ้าง
ส่วนมาตรการของไทย “แจกเงิน 5,000 บาท” หมดไปแล้ว “มาตรการแจกเงินเที่ยว” ก็ใช้ไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวังไว้ ขณะที่ภาคสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ และเพิ่มการกันสำรอง เพราะการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้นของธุรกิจขนาดเล็กและกลาง
นอกจากนี้ปัจจัยการเมืองเริ่มมีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากเกิดเหตุการณ์ชุมนุมในวงกว้างและยืดเยื้อ ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัจจัยต่างประเทศ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่งสัญญาณยืดเยื้อและทวีความรุนแรง ล่าสุด 15 ส.ค. ได้เลื่อนการเจรจาข้อตกลงการค้าเฟส 1 ออกไป โดยยังไม่มีกำหนดการใหม่ ขณะที่ทั้งสองฝ่ายต่างตอบโต้กันไม่หยุด ส่วนความเสี่ยงของการระบาดเชื้อโควิด-19 ระลอกที่ 2 ในสหรัฐฯ อาจทำให้หลายรัฐชะลอการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มเติม แม้ว่า”โลก”มีความหวัง หลังจากประเทศรัสเซียได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัคซีนเป็นประเทศแรก แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นทุกวัน
เชื่อว่าปัจจัยแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจจะยังคงเติบโตอย่างช้าๆ ในระยะ 1-3 ปี ข้างหน้า นักวิเคราะห์มีการปรับลดประมาณการกำไรของบจ.ในปี 2563-2564 ส่งผลกระทบต่อมูลค่าที่เหมาะสม จึงมีโอกาสที่ราคาหุ้นปรับตัวลงได้อีก นักลงทุนอย่าเพิ่งผลีผลามเข้าไปลุย เพียงหวังว่าผลงานบจ.ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เพราะโอกาสขาดทุนของบจ. จะฉุดให้บรรยากาศลงทุนไม่สดใส พร้อมกดราคาหุ้นไหลลงไปได้อีก ในระยะสั้น เพียงรับรู้ผลงานไตรมาสที่ 2/2563 ก็เกิดแรงขาย”เซลออนแฟคท์”ออกมารุนแรงในหุ้นหลายตัว ทำเอานักลงทุนบาดเจ็บหนักไปหลายคน ขอเตือนการลงทุนมีความเสี่ยงสูง!