STGT ฟาดกำไร 1,256 ลบ.สูงสุด 31 ปี แบล็กล็อกถึงปี 65 เร่งผลิต 7 หมื่นล้านชิ้น

HoonSmart.com>>”ศรีตรังโกลฟส์”กำไรแกร่งไตรมาส 2/2563 พุ่งกระฉูด 487%จากช่วงเดียวกันปีก่อน อัตรากำไรเพิ่มมีนัยสำคัญ รายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 4,856 ล้านบาท ทะยานไปอีกไกล ผู้ใช้ถุงมือยางเปลี่ยนพฤติกรรม หนุนคำสังซื้อรอรับรู้รายได้ถึงปี 65 เร่งขยายกำลังการผลิตเกือบเท่าตัวเป็น 70,000 ล้านชิ้นต่อปี เสร็จปี 69 

บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT หนึ่งในผู้ผลิตถุงมือยางทางการแพทย์รายใหญ่ที่สุดในโลก เปิดเผยผลกำไรสุทธิ 1,056 ล้านบาท ไตรมาส 2/2563 โตก้าวกระโดดจากที่มีกำไรสุทธิเพียง 173 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน และรวมครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิ 1,478 ล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิ 329 ล้านบาท

“บริษัทสามารถทำกำไรสุทธิได้สูงสุด นับตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการมาตลอด 31 ปี โดยกำไรที่ 1,056.8 ล้านบาท เติบโต 150.5 %จากไตรมาสแรกและพุ่งขึ้น 487.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 487.7 % และยังสามารถสร้างรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 4,856.8 ล้านบาท เติบโต 29.2% เทียบกับไตรมาสแรกและ 70.5 % เทียบกับปีก่อนหน้า เพราะความต้องการถุงมือยางที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องทั่วโลก”บริษัทระบุ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีคำสั่งซื้อที่รอส่งมอบ (แบ็กล็อก) อย่างแข็งแกร่งถึงไตรมาสที่ 4 ปี 2564 สำหรับถุงมือยางธรรมชาติ (NR)  และไตรมาสที่ 2 ปี 2565 สำหรับถุงมือยางสังเคราะห์ (NBR) เพราะสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ได้เพียงสร้างความต้องการใช้ถุงมือยางอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ยังทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้งาน ทั้งในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ไปจนถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง ถือเป็นสร้างมาตรฐานการดำเนินชีวิตของมนุษย์ภายหลังจากช่วงแพร่ระบาดของไวรัสในระยะยาว

บริษัทฯ เดินหน้าผลิตอย่างเต็มขีดความสามารถ โดยปรับเพิ่มอัตรากำลังการผลิตสูงสุดถึง 95 % แบ่งการผลิตถุงมือยางธรรมชาติ  และถุงมือยางสังเคราะห์ สัดส่วน 65:35 บริษัทฯ จะยังคงรักษาอัตรากำลังการผลิตในระดับสูง 95%และยังคงสัดส่วนผลิตภัณฑ์จนกว่าจะมีการรับรู้กำลังการผลิต NBR ใหม่จากโรงงานสาขาสุราษฎร์ธานี (SR2) ซึ่งจะเริ่มผลิตในช่วงไตรมาสหนึ่ง 2564 เป็นต้นไป

นอกจากนี้เงินทุนที่ได้จากการเสนอขายให้ประชาชนครั้งแรก (IPO) หลังหักค่าใช้จ่ายจำนวน 14,595 หมื่นล้านได้ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างเงินลงทุนและสนับสนุนกลยุทธ์ในการขยายกำลังการผลิต ให้เติบโตถึงกำลังการผลิตที่ 70,000 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งได้ปรับแผนให้เร็วขึ้นเป็นปี 2569 (จากแผนเดิมในปี2571) ปัจจุบันมีกำลังการผลิตติดตั้งอยู่ที่ 3.3 หมื่นล้านชิ้นต่อปี

ขณะเดียวกันอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (IBD) ต่อส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงจาก 1.39 เท่าในไตรมาสแรก  เป็น 0.21 เท่าในไตรมาสสอง และราคาวัตถุดิบลดลงอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ต้นทุนขายต่อรายได้ลดลงจาก 81.2% ในไตรมาสแรกเป็น  70.8% และอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 18.8%เป็น 29.2% ส่วนอัตรากำไรก่อนค่าใช้จ่ายทางการเงินและภาษีเงินได้ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกันจาก 19.0% พุ่งขึ้นเป็น 30.7% ในไตรมาสที่ 2/2563