สภาวิชาชีพบัญชีฯหนุนเลื่อน “IFRS9” เป็นปี 63

สภาวิชาชีพบัญชีฯ ยอมรับได้หากเลื่อน IFRS9 ออกไปอีก 1 ปี หรือเป็นวันที่ 1 ม.ค.2563 ย้ำมาตรฐานบัญชีใหม่ ทำให้งบดุลสะท้อนความเสี่ยง ยันไม่กระทบปล่อยกู้เอสเอ็มอี

นายสมชาย สุภัทรกุล ประธานคณะกรรมการกำหนดกำหนดมาตรฐานการบัญชี สภาวิชาชีพบัญชีฯ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) วันที่ 17 ก.ค.นี้ ทางคณะอนุกรรมการศึกษามาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินกลุ่มเครื่องมือทางการเงินไปปฏิบัติ จะรายงานผลดีและผลเสียของการเลื่อนมาตรฐานบัญชี IFRS9 ออกไปจากกำหนดเดิมในวันที่ 1 ม.ค.2562

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผลการศึกษาของอนุกรรมการฯ มีความเป็นไปได้สูงที่กกบ.จะตัดสินใจเลื่อนการใช้ IFRS9 ออกไปเป็นวันที่ 1 ม.ค.2563 และสภาวิชาชีพบัญชีฯก็เห็นด้วยกับการเลื่อนมาตรฐานบัญชีดังกล่าวออกไปอีก 1 ปี เพื่อให้เวลาผู้ที่เกี่ยวข้องเตรียมตัวอีกระยะหนึ่ง แม้ว่าที่ผ่านมากลุ่มธนาคารพาณิชย์พร้อมที่จะเข้าสู่มาตรฐานบัญชีใหม่แล้ว และเมื่อมาตรฐานบัญชี IFRS9 บังคับใช้ในปี 2563 บริษัทจดทะเบียนยังสามารถทยอยตั้งสำรองหนี้เผื่อสงสัยจะสูญฯได้ 3 ปี

“เท่าที่ดูข้อมูลอนุกรรมการฯให้น้ำหนักไปที่การบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2563 ซึ่งเรา (สภาวิชาชีพบัญชีฯ) ก็ยอมรับได้ แต่หากเลื่อนไปเป็นปี 2565 เลย ตรงนี้กระทบต่อความน่าเชื่อถือของงบดุลของทั้งผู้ฝากเงิน และนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ แต่ต้องรอกกบ.ฟันธงวันที่ 17 ก.ค.นี้”นายสมชายกล่าว

นายสมชาย กล่าวว่า แม้ว่ามาตรฐาน IFRS9 จะยังไม่มีการประกาศใช้ แต่ทราบว่าธนาคารบางแห่งเริ่มทดลองตั้งสำรองหนี้ฯไปแล้ว รวมทั้งแจ้งข้อมูลและผลกระทบไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว ซึ่งธปท.ก็ไม่ได้ออกมาพูดว่าต้องเลื่อนอะไรออกไปแต่อย่างใด จึงเข้าใจว่าการตั้งสำรองหนี้ฯหรือการด้อยค่าของทรัพย์สินตามมาตรฐาน IFRS9 แม้ว่าจะมีผลกระทบกับกำไรของธนาคารโดยตรง แต่ผลกระทบคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้

“มาตรฐานบัญชี IFRS9 จะทำให้นักลงทุนได้ข้อมูลงบการเงินที่มีคุณภาพสูง และยังบอกได้ด้วยว่างบดุลสะท้อนสะท้อนว่ากลยุทธ์บริหารมีความเสี่ยงหรือไม่ มีการปล่อยสินเชื่อหละหลวมและตั้งสำรองหนี้ฯน้อยกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ ซึ่งการตั้งสำรองหนี้ฯน้อยเกินไป จะมีผลทำให้ฝ่ายบริหารตัดสินใจผิดพลาดได้”นายสมชายกล่าว

นายสมชาย ยืนยันว่า มาตรฐาน IFRS9 จะไม่ส่งผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพียงแต่ธนาคารพาณิชย์อาจต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการปล่อยสินเชื่อให้เหมาะสมตามความเสี่ยง เช่น หากลูกหนี้มีความเสี่ยงต่ำการตั้งสำรองหนี้ฯก็ต่ำ และหากลูกหนี้มีความเสี่ยงสูง แม้ว่าธนาคารจะต้องตั้งสำรองหนี้ฯสูงขึ้น แต่ธนาคารก็ได้ผลกำไรกำไรสูงเช่นกัน รวมทั้งธนาคารเฉพาะกิจของรัฐต้องเข้ามามีบทบาทในการปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีมากขึ้น