HoonSmart.com>> “ลีซ อิท” ประเมินครึ่งปีหลังดีมานด์สินเชื่อเพิ่ม หลัง COVID-19 คลี่คลาย ด้านผลงานไตรมาส 2/63 กำไรลดเหลือ 16 ล้านบาท ครึ่งปีกอด 35 ล้านบาท คุม NPL อยู่ในวงจำกัด ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจ มุ่งเน้นออกแพคเกจสินเชื่อใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ SMEs ที่เป็นคู่ค้าภาครัฐ เดินหน้าขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง
นายสมพล เอกธีรจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีซ อิท (LIT) เปิดเผยว่า แนวโน้มในครึ่งปีหลังคาดว่ายอดปล่อยสินเชื่อจะขยายตัวดีขึ้น หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายอย่างแท้จริง ย่อมส่งผลทำให้ธุรกรรมทางเศรษฐกิจก็น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น และมีโอกาสที่กลุ่มลูกค้า SMEs จะมีดีมานด์สินเชื่อเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับบริษัทฯ ที่เน้นให้บริการสินเชื่อเพื่อคู่ค้าภาครัฐ
สำหรับผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/2563 บริษัทฯมีรายได้รวม 98.84 ล้านบาท ลดลง 18.36% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 121.07 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 16.16 ล้านบาท ลดลง 55.45% จากงวดไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 36.27 ล้านบาท ขณะที่พอร์ตลูกหนี้สินเชื่ออยู่ที่ 2,551 ล้านบาท และมียอดปล่อยสินเชื่อ 4,020.56 ล้านบาท เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งกดดันภาพรวมเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกชะลอตัว และการบริหารจัดการความเสี่ยง ขณะที่รายได้รวมในงวด 6 เดือนแรกของปี 2563 อยู่ที่ 202.66 ล้านบาท ยอดปล่อยสินเชื่อรวม 4,020.56 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 35.52 ล้านบาท
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เดินหน้าออกแพคเกจสินเชื่อใหม่ๆ เพื่อให้มีข้อได้เปรียบในการแข่งขันในกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะเติบโตและเข้าเงื่อนไขการพิจารณาสินเชื่อของบริษัทฯ อาทิ สินเชื่อเพื่อธุรกิจเครื่องมือแพทย์ สินเชื่อสำหรับจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์เพื่อการศึกษา สินเชื่อเพื่อธุรกิจผลิตพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนส่ง ตลอดจนสินเชื่อเพื่อธุรกิจซื้อมาขายไป (เทรดดิ้ง) โดยมุ่งเน้นผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับโครงการจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัยและโรงเรียนของรัฐ ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญกับช่องทางดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง เพื่อขยายฐานลูกค้า โดยล่าสุดมีสัดส่วนลูกค้าใช้ช่องทางนี้กว่า 36% ของจำนวนลูกค้าใหม่ทั้งหมด
กรรมการผู้จัดการ กล่าวอีกว่า บริษัทฯได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการกับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ซึ่งบริษัทฯได้มีการปรับแนวทางการดำเนินการ เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงในเชิงรุกทั้งในการแก้ไข ควบคุม และป้องกันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งๆขึ้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังสามารถควบคุมปริมาณ NPLs ให้อยู่ในวงเงินที่จำกัดได้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้บริษัทใช้ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ดูแลการบริหารจัดการหนี้อย่างใกล้ชิด และได้เพิ่มมาตรการในการคัดกรองและพิจารณาลูกค้าอย่างเข้มงวดเพื่อให้สอดคล้องสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมไปถึงการบริหารจัดการพอร์ตสินเชื่อให้มีกระจายพอร์ตสินเชื่อในแต่ละอุตสาหกรรม อีกทั้ง มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นคู่ค้ากับหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจโดยมีพอร์ตสินเชื่อโครงการภาครัฐคิดเป็น 70% ของพอร์ตสินเชื่อรวม รวมไปถึง การเร่งตั้งนโยบายตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ (Reserve) ในสัดส่วน 15.34% ของพอร์ตลูกหนี้คงค้าง