SINGER กำไร 202 ลบ.โตสูงสุด 119.6% จ่ายปันผลระหว่างกาล 0.10 บ./หุ้น

HoonSmart.com>>ซิงเกอร์ประเทศไทย ทำนิวไฮใหม่ในรอบ 23 ปี กำไร  202 ล้านบาท พุ่งแรง 119.6% รายได้ 1,722 ล้านบาท โต 34.1%  ยอดขายแอร์ทำสถิติใหม่ พอร์ตสินเชื่อรถโต ภาพรวม NPL ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หรืออยู่ที่ประมาณ 6.49% บอร์ดไฟเขียวจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.10 บาท/หุ้น กำหนดจ่าย 9 กันยายนนี้

นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) เปิดเผยว่าผลการดำเนินงานประจำครึ่งปีแรก 2563 (ม.ค – มิ.ย. 63) ทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ในรอบ 23 ปี มีกำไรสุทธิ 202 ล้านบาท เติบโต 110 ล้านบาท หรือ 119.6 % จากงวดครึ่งปีแรกของปีก่อนอยู่ที่ 92 ล้านบาท และเติบโตกว่าปี 2562 ทั้งปีที่ทำได้ 165.89 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 1,722 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 438 ล้านบาท หรือคิดเป็น 34.1% มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 45.4% อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 11.7%

ด้านผลประกอบการงวดไตรมาส 2/2563 ที่โดดเด่นต่อเนื่อง มีกำไรสุทธิ 115 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63 ล้านบาท หรือ 121.2% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 52 ล้านบาท มีรายได้รวมอยู่ที่ 919 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 238 ล้านบาท หรือ 34.9% โดยสาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น พอร์ตสินเชื่อรถทำเงินเติบโต และการบริหารจัดการภายในที่ดีเยี่ยม ผลจากการปรับโครงสร้างองค์กรในช่วงที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ สนับสนุนการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

อีกทั้ง SINGER ไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการล็อกดาวน์ปิดเมือง เนื่องจากรูปแบบการขายของ SINGER เป็นการขายตรงผ่านตัวแทนที่ปัจจุบันมีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ราว 2,000 ราย และกระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบกับ ความสำเร็จในการขยายสาขาผ่านแฟรนไชส์ได้แล้ว 1,500 แห่ง จากแผนที่ตั้งไว้ปีนี้จะขยายสาขา 2,000 แห่ง สะท้อนภาพรวมในตลาดต่างจังหวัดที่ยังเข้มแข็ง และพลัง Synergy ร่วมกันในกลุ่มเจมาร์ทเสริมแกร่ง

ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 บริษัทฯ มีลูกหนี้จำนำทะเบียนรถเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3,861 ราย ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 2,159 ล้านบาท โต 19.3% จากสิ้นไตรมาส 1/2563 และตั้งเป้าหมายจะปล่อยสินเชื่อรถทำเงินในปีนี้ 3,400 ล้านบาท เติบโตขึ้นเท่าตัวจากพอร์ตสินเชื่อรถทำเงินปีก่อนรวมที่ 1,500 ล้านบาท เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำ ด้วยระดับ NPL อยู่ที่ระดับไม่ถึง 1% ปัจจุบันดอกเบี้ยรถทำเงินอยู่ที่ 16% ไม่เกินจากที่กำหนดไว้ที่ 24% ทั้งยังมองเป็นโอกาสของลูกค้าที่อยู่ในพอร์ตคู่แข่งที่อัตราดอกเบี้ยสูง สามารถรีไฟแนนซ์ (Refinance) มาใช้บริการสินเชื่อทะเบียนรถซิงเกอร์ที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกกว่า

“พอร์ตสินเชื่อรวมครึ่งปีแรก ปี 2563 อยู่ที่ 4,657 ล้านบาท แบ่งเป็นพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ (Hire purchase) 2,498 ล้านบาท และพอร์ตสินเชื่อรถทำเงิน (C4C) 2,159 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 53.6% และ 46.4% ตามลำดับ ของสินเชื่อรวมทั้งหมด คาดครึ่งปีหลังภาพรวมการเติบโตจะยังดีต่อเนื่อง” นายกิตติพงศ์ กล่าว

นายกิตติพงศ์ กล่าวเสริมอีกว่า เป้าพอร์ตสินเชื่อรวมปีนี้วางไว้จะเติบโตแตะ 5,800 ล้านบาท จากปีก่อนมีพอร์ตสินเชื่อรวมกว่า 3,600 ล้านบาท หรือโตกว่า 61% มั่นใจจะเป็นไปตามเป้าหมาย ควบคู่การบริหารจัดการภายในที่ดี นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนการอนุมัติสินเชื่อ เข้าสู่รูปแบบดิจิทัลมากขึ้น ทำให้ครึ่งปีแรกภาพรวมการเก็บหนี้ยังทำได้ดี การตั้งสำรองอยู่ในระดับปกติ สนับสนุนให้ต้นทุนของบริษัทฯ ลดลง และภาพรวมหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ลดลงอยู่ที่ 6.49% ดีกว่าเป้าหมายวางไว้ที่ 7% และจากไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ระดับ 8.1%