HoonSmart.com>>บอร์ดกนง.มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เห็นเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว เร่งผลักดันให้สถาบันการเงินแก้หนี้ อัดสินเชื่อให้ตรงจุด-ทันสถานการณ์ รอเศรษฐกิจกลับสู่ปกติไม่ต่ำกว่า 2 ปี ระยะสั้นจับตาเงินบาทแข็งค่า หุ้นดีดบวก 7 จุด รับข่าวสัญญาณบวก ราคาแบงก์ใหญ่กระโดดขึ้น ผสมแรงเก็งกำไรจากการลดนำส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟู อสังหาริมทรัพย์ขยับตาม
วันที่ 5 ส.ค. 2563 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 5/2563 มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ยังต้องระวังความเสี่ยงจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 2
ส่วนอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบในปีนี้ ก่อนจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 64 ขณะที่เสถียรภาพการเงินมีความเปราะบางมากขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจ
กนง.คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ปกติเหมือนในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน กล่าวว่า คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ต้นปี มาตรการการคลังของรัฐบาล รวมทั้งมาตรการการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดคลี่คลาย เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียภาพระบบการเงิน
“คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงิน เร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ทั้งหนี้ครัวเรือนและธุรกิจให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์” นายทิตนันทิ์กล่าว
ด้านภาวะการเงิน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทรงตัวในระดับต่ำ ขณะที่ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน และพันธบัตรรัฐบาลยังคงอยู่ในระดับสูง ด้านสินเชื่อขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อทดแทนการออกตราสารหนี้ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs และสินเชื่ออุปโภคบริโภคชะลอลง แม้ว่าส่วนหนึ่งจะได้รับอานิสงค์จากมาตรการเลื่อนการชำระหนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าสภาพคล่องโดยรวมในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้กระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น
ส่วนค่าเงินบาทผันผวนสูงขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทกลับมามีแนวโน้มแข็งค่าตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ คณะกรรมการฯ เห็นว่าหากเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็ว อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม
สำหรับระบบการเงินมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอน และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง
มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
ด้านตลาดหุ้นในภาคบ่ายหลังกนง.มีมติคงดอกเบี้ยและส่งสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจ หนุนให้ดัชนีดีดขึ้นบวก 7 จุด ตามแรงซื้อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ราคาเปิดกระโดด เช่น KBANK จากระดับ 83 บาทขึ้นเป็น 84 บาท SCB จาก 67 บาทวิ่งไปถึง 68.75 บาท รวมถึงมีกระแสข่าวว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินลงไปอีกจากที่เหลือ 0.23% ของเงินฝาก อาจจะเหลือ 0% หากเป็นความจริงจะช่วยเพิ่มรายได้ดอกเบี้ยให้กับธนาคารพาณิชย์ ส่วนหุ้นอสังหาริมทรัพย์ก็มีแรงซื้อเข้ามาอย่างชัดเจน นำโดย LH ปรับตัวขึ้นจาก 7.50 บาทเป็น 7.65 บาท