PTL ลั่นกำไรโต ทุ่มลงทุน 3พันลบ.กวาดตลาดเพิ่มอีกนาน

HoonSmart.com>>”โพลีเพล็กซ์” ส้มหล่น พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนช่วงโควิดแพร่ระบาด  ยอดขายแผ่นฟิล์มชนิดบางในอาเซียนพุ่ง 30-40% หนุนไตรมาส 1 ปี 63/64 ทะยาน  รวมทั้งปีโต ส่วนแผ่นฟิล์มชนิดหนา เริ่มฟื้น หลังปลดล็อกดาวน์ ตั้งงบลงทุน 3 พันล้านบาท เพิ่มกำลังการผลิต-ความสามารถผลิต รองรับโอกาสทางธุรกิจ ซื้อกิจการ ลงทุนผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ 

นายมานิตย์ กุปต้า ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) หรือ PTL เบอร์ 1 ผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นฟิล์ม PET ของไทย และอันดับ 5 ของโลก เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดว่าผลการดำเนินงานในรอบปี 2563/64 (เม.ย.63-มี.ค. 64) จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 14,051 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,804 ล้านบาท โดยไตรมาส 1  (เม.ย.-มิ.ย.63) มียอดขายดีขึ้น จากความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์ม PET ชนิดบาง ในบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวในอุตสาหกรรมอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงการบริหารจัดการด้านต้นทุนการผลิตและอัตราการใช้เครื่องจักรที่ดีขึ้น

ด้านนายอมิต ปรากาซ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า  อุตสาหกรรมแผ่นพิล์ม PET ในตลาดโลกมีแนวโน้มเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะชนิดบาง ซึ่งบริษัทมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 70% ของรายได้รวม ทำให้มีการเติบโตก้าวกระโดดในช่วงวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกหันมาสั่งซื้อสินค้าและอาหารผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้กลุ่มผู้ผลิตแผ่นฟิล์ม PET ของโลกเร่งผลิตสินค้า โดยมีการประเมินว่า ตลาดผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์ม PET ชนิดบาง เพื่อนำไปใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคของภูมิภาคอาเซียน ช่วงโควิดเติบโตสูงถึง 30-40% จากเดิมเติบโตเฉลี่ย 5-7% ต่อปี

ขณะที่ตลาดแผ่นฟิล์ม PET ชนิดหนา ที่ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เช่น เทปฉลาก การเคลือบด้วยความร้อน การถ่ายภาพและงานกราฟิก แผงโซล่าเซลล์ การก่อสร้าง และอุปกรณ์เกี่ยวกับแสง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่หลังจากที่หลายประเทศได้ประกาศคลายล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง คาดว่าความต้องการจะฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติ ที่มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 4-6% ต่อปี และช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจของบริษัทฯ รับจังหวะเศรษฐกิจฟื้นตัว

ปัจจุบัน PTL เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นฟิล์ม PET รายใหญ่ที่สุดของไทย และเป็นอันดับ 5 ของโลก จากฐานการผลิตใน 5 ประเทศ ประกอบด้วย อินเดีย ไทย อินโดนีเซีย ตุรกีและสหรัฐอเมริกา ได้รับอานิสงส์ในเชิงบวกจากปริมาณความต้องการใช้แผ่นฟิล์ม PET ชนิดบางที่เพิ่มขึ้น และคาดว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องในระยะยาวในอัตราปกติ 5-7% ต่อปี โดยเอเชียถือเป็นตลาดใหญ่ ที่มีสัดส่วนการใช้มากถึง 3 ใน 4 ของแผ่นฟิล์มทั่วโลก ขณะที่หลายประเทศมีการใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ต่อหัวต่อปียังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทฯ ที่มุ่งผลิตแผ่นฟิล์ม PET ชนิดบาง รับความต้องการของใช้ในภูมิภาคนี้มากขึ้น

“เรามีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน จากกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจที่มุ่งเน้นสร้างนวัตกรรมเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์มและการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและความมั่นคงทางธุรกิจรองรับโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ จากความต้องการของตลาดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดี ซึ่งเรามั่นใจว่าด้วยจุดแข็งของบริษัทฯ ที่มีฐานการผลิตที่ช่วยสนับสนุนประสิทธิภาพการผลิตด้วยต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำ เ ทำให้เราเก็บเกี่ยวรายได้และสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืน” นายอมิต กล่าว

ส่วนแผนดำเนินงานในปี 2563/2564 ได้มุ่งสร้างความแข็งแกร่งในด้านความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องและการสร้างมูลค่าเพิ่ม (High Value Product) ของแผ่นฟิล์ม PET ทั้งชนิดบางและชนิดหนา ผ่านฐานการผลิตทั้ง 5 แห่ง รองรับโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้น และการเข้าซื้อกิจการ (M&A) โดยใช้งบลงทุน 90-100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,000 ล้านบาท) เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและยกระดับความสามารถการผลิต เช่น การลงทุนแผ่นฟิล์ม BOPP หรือแผ่นฟิล์มโพลีโพรพีลีน ที่มีประสิทธิภาพสูง มีคุณสมบัติเด่นในด้านความยืดหยุ่น โปร่งใสและโปร่งแสง ในประเทศอินโดนีเซีย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2564-2565 โดยมีกำลังการผลิตใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้

นอกจากนี้ ยังมีโครงการลงทุนขนาดเล็กในผลิตภัณฑ์ปลายน้ำอื่นๆ เช่น การผลิตฟิล์มเคลือบซิลิโคน ฟิล์ม โฮโลแกรม แผ่นฟิล์ม Blown ฟิล์มเป่าและแผ่นฟิล์มเคลือบนอก ในสายการผลิตในไทยและตุรกี เป็นต้น