HoonSmart.com>>บล.ทรีนีตี้” มองหุ้นเดือน ส.ค.แกว่งตัว Sideways สภาพคล่องหนุน ให้แนวรับ 1,270 จุด แนวต้าน 1,360 จุด ประเมินหุ้นขนาดกลาง-เล็กทะยานกว่าตลาด กำไรปี 64 พุ่ง 50-60% พี/อียังต่ำ จับตาความไม่แน่นอนจากต่างประเทศ และการระบาดของโควิด-19 รอบสองในไทย
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดหุ้นเดือนส.ค.63 เริ่มอยู่ในระดับที่สมดุลมากขึ้น หลังปรับตัวลงมาช่วงปลายเดือนก.ค. จนมาอยู่บริเวณกึ่งกลางของแนวต้านที่ระดับ 1,360 จุด อิงพี/อี ล่วงหน้าที่ 16.8 เท่าและกำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดปีหน้าที่ 81 บาท ขณะที่มีแนวรับที่ 1,270 จุด อิงพี/อี ล่วงหน้าที่ 15.7 เท่า มองหากดัชนีหลุดระดับ 1,300 จุดลงมา ถือเป็นโอกาสที่ดีในการทยอยเพิ่มน้ำหนักหุ้นรอบใหม่ หลังแนะนำให้ชะลอการลงทุนมาตลอดช่วงที่ผ่านมา
“ หุ้นเดือน ส.ค.น่าจะได้รับปัจจัยหนุนส่วนหนึ่งจากสภาพคล่องที่จะไหลกลับมาจากตลาดพันธบัตรเข้าสู่ตลาดหุ้นได้ หลังจากวงเงินการประมูลพันธบัตรรัฐบาลจะลดลงจากเดือนก่อนอย่างมีนัยสำคัญ น่าจะช่วยลดแรงกดดันการดูดซับสภาพคล่องออกจากตลาดหุ้นที่เกิดขึ้นในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาได้บ้าง และ Earning yield gap กระเตื้องขึ้นจากจุดต่ำสุด ทำให้ความน่าสนใจของหุ้นเริ่มกลับมาบ้าง ”นายณัฐชาตกล่าว
สำหรับหุ้นที่ทรีนีตี้แนะนำยังคงเป็นหุ้นขนาดกลางและเล็ก ที่มีกำไรเติบโตดีกว่าหุ้นขนาดใหญ่ ในปี 64 นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าหุ้นเหล่านี้จะเติบโตสูงถึง 50-60% และพี/อี ล่วงหน้ายังคงอยู่ในระดับต่ำเพียง 14 เท่า เทียบกับหุ้นขนาดใหญ่ที่กำไรจะโตเพียง 20% เท่านั้น ขณะที่ พี/อี ล่วงหน้าอยู่ที่ 17 เท่า
ส่วนธีมการลงทุนแนะนำหุ้นขนาดกลาง-เล็ก 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มบริหารหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน JMT และ CHAYO 2. กลุ่มเกษตรและอาหาร TFG, ASIAN, APURE, SUN, XO 3. กลุ่มปั๊มน้ำมัน PTG 4. กลุ่มแพคเกจจิ้ง SFLEX, PTL 5. กลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีการเติบโตดี TPCH, SSP และ 6. กลุ่มหุ้นขนาดกลาง-เล็กอื่นที่ยังมีมูลค่าถูก เมื่อเทียบกับการเติบโตที่รออยู่ ILINK, PRM, SMPC
นายณัฐชาต กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตามในเดือน ส.ค. คือประเทศไทยจะถูกประกาศขึ้นบัญชีดำจากสหรัฐอเมริกาเรื่องแทรกแซงค่าเงินหรือไม่ หลังจากที่ไทยได้เข้าข่ายทั้ง 3 เกณฑ์ที่สหรัฐฯตั้งไว้แล้ว หากไทยเข้าสู่บัญชีดำและนำมาสู่มาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐฯในช่วงถัดไป จะกระทบกับภาคการส่งออก โดยเฉพาะ สินค้าที่ไทยไม่ได้มีความได้เปรียบ หรือเป็นสินค้าที่สหรัฐฯมีทางเลือกในการนำเข้าจากประเทศอื่นทดแทนได้
นอกจากนี้ยังต้องจับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่อาจรายงานอ่อนตัวในเดือนส.ค.โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงาน หลังเริ่มได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 รอบสอง อาจทำให้นักลงทุนกังวลใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าหากตัวเลขออกมาแย่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก็น่าจะพร้อมที่จะอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมได้ หลังจากช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาเฟดได้มีการเก็บกระสุนผ่านการลดขนาดงบดุล (Balance sheet) มาโดยตลอด
ส่วนประเด็นสุดท้ายที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่หากเกิดขึ้นจะมีผลกระทบรุนแรง คือ การระบาดของโควิด-19 รอบสองภายในประเทศ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง คาดว่าดัชนีจะถูกกดดันจากแรงขาย Panic sell ในช่วงแรก คล้ายๆกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นเวียดนามในช่วงปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมา