ETC โรงไฟฟ้าขยะครบวงจร เคาะราคาไอพีโอ 2.60 บาท ขาย 4-11 ส.ค.

HoonSmart.com>> “เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์” เคาะราคาไอพีโอ 2.60 บาท ชูจุดเด่นกำไรโต โรงไฟฟ้าขยะสะอาดครบวงจรตัวแรกของตลาดหุ้นไทย นำเงินเติมสภาพคล่อง-ลงทุนขยายธุรกิจ พร้อมประมูลโรงไฟฟ้าขยะ 444 เมกะวัตต์ เปิดจอง 4-11 ส.ค.63 คาดเข้าซื้อขายตลาด mai 18 ส.ค.นี้ ด้านบล.เคทีบี เผยโรดโชว์กระแสตอบรับดี บล.ยูโอบีฯ ชี้ราคาให้ส่วนลด 23%  ส่วนหุ้นน้องใหม่   SICT เปิดซิลลิ่งติดต่อเป็นวันที่สาม  STGT  บวกต่อ

นายเอกรินทร์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ (ETC) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ลงนามสัญญาการจัดจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุน (ไอพีโอ) ของบริษัท จำนวน 600 ล้านหุ้น พร้อมหุ้นกรีนชู จำนวน 60 ล้านหุ้น กับบริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ ในราคาหุ้นละ 2.60 บาท คิดเป็นมูลค่าการระดมทุนประมาณ 1,560 ล้านบาท

บริษัทฯ มีแผนจะนำเงินจากการเพิ่มทุนไปใช้ในการขยายธุรกิจของ ETC และบริษัทย่อย รวมถึงการชำระคืนเงินกู้ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจและเตรียมขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดต่างๆ อาทิเช่น โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ และ โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 44 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลปลายปีนี้

น.ส.ปิ่นมณี เมฆมัณฑนา กรรมการผู้จัดการอาวุโส สายวาณิชธนกิจบริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) ที่ปรึกษาทางการเงิน ETC กล่าวว่า หุ้นไอพีโอ ETC ได้รับกระแสความสนใจอย่างสูงจากการโรดโชว์ พบทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย เนื่องจาก ETC มีจุดแข็งอย่างมากด้านเชื้อเพลิงขยะจากบริษัทฯแม่คือ กลุ่มเบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (BWG) เป็นผู้ประกอบการด้านกำจัดขยะอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ

นอกจากนี้  ETC มีประสบการณ์การดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะที่ดี มีคณะผู้บริหารและทีมงานวิศวกรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังมีบริษัทย่อยเป็น บริษัทรับเหมาที่เชี่ยวชาญการสร้างโรงไฟฟ้าขยะแบบครบวงจร รวมถึงบริหารและดูแลซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า (O&M)ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จึงเป็นหุ้นโรงไฟฟ้าขยะตัวแรกของตลาดหุ้นไทย ที่มีอนาคตไกล มีผลประกอบการดี มีอัตรากำไรสูง และมีแนวโน้มการเติบโตสูงมากจากการเตรียมเปิดประมูลโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงกว่า 444 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะได้รับการจองซื้อหุ้นไอพีโอของบริษัทฯอย่างมาก

นายชัยพัชร์ นาคมณฑนาคุ้ม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ผู้จัดการการการจัดจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุน กล่าวว่า ราคาหุ้นไอพีโอในราคาหุ้นละ 2.60 บาท คิดเป็นสัดส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ประมาณ 22 เท่า เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิต่อหุ้นในปีหน้าที่นักวิเคราะห์ประมาณไว้และมีส่วนลดให้นักลงทุนประมาณ 23% เมื่อเทียบกับ อัตรา P/E เฉลี่ยของกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภคที่ประมาณ 29 เท่า โดยการจองซื้อหุ้นไอพีโอของ ETC จะให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิมของ BWG ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ ETC จองซื้อได้ไม่เกิน จำนวน 95,802,973 หุ้น  อัตรา 40 หุ้น BWG ต่อ 1 หุ้น ETC ในวันที่ 4-6 ส.ค.2563 กับบล.ยูโอบีเคย์เฮียน

นอกจากนั้นเปิดให้นักลงทุนทั่วไปจองซื้อได้วันที่ 7 – 11 ส.ค.2563 และเริ่มเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai ในวันที่ 18 ส.ค.นี้

ทั้งนี้ ETC เป็นผู้นำด้านโรงฟ้าขยะแบบครบ คือ มีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอุตสาหกรรม 3 แห่งคือ ที่จังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา และพิจิตร รวมกำลังการผลิต 20.4 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 16.5 เมกะวัตต์ กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ระยะเวลา 20 ปี โดย ETC เป็น บริษัทในกลุ่มเบตเตอร์เวิร์ล กรีน (BWG)ซึ่งเป็นกลุ่มผู้รับบริหารกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งมีโรงงานผลิตขยะอัดแท่ง (RDF) อยู่ภายในกลุ่ม ทำให้ ETC มีความมั่นคงด้านเชื้อเพลิง รวมถึงข้อได้เปรียบด้านต้นทุนเชื้อเพลิง

ETC มีทุนจดทะเบียน 1,120,000,000 บาทมีจำนวนหุ้นทั้งหมด 2,240,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้นและมีผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง โดยมีรายได้รวม 362.39 ล้านบาท ในปี 2562 เพิ่มขึ้น จากรายได้รวม 325.24 ล้านบาทในปี 2561 และรายได้รวม 184.10 ล้านบาทในปี 2560 และมีกำไรสุทธิ 56.80 ล้านบาท ในปี 2562 จากกำไรสุทธิ 65.35 ล้านบาท ในปี 2561 และขาดทุนสุทธิ 3.14 ล้านบาท ในปี 2560 เนื่องจากในปี 2561 และ 2562 มีการรับรู้รายได้ค่าไฟฟ้าเต็มปีจากโรงไฟฟ้า ETC

ล่าสุดในงวดไตรมาส 1 ปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้รวม 134.90 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 24.18 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิสูง 18% และในปี 2563 นี้ ETC คาดว่าจะรับรู้รายได้การขายไฟฟ้าได้เต็มปี จากโรงไฟฟ้าขยะ RH และ AVA ซึ่งมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT สูงถึง 6.83 บาท/หน่วย ซึ่งเป็นอัตราการรับซื้อไฟฟ้าที่สูงสุดเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น เนื่องจากภาครัฐส่งเสริมการใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงเพื่อลดปัญหาด้านปริมาณขยะของประเทศ

ด้านหุ้นน้องใหม่ที่เข้าตลาดหุ้นในปี 63 ต่างได้รับความสนใจจากนักลงทุนดีเกินคาด ตัวล่าสุด บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี (SICT)  ที่เพิ่งนำหุ้นเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ(mai) เมื่อวันที่ 30 ก.ค. สร้างความประทับใจให้กับผู้จองซื้อ  โดยวันแรกเปิดที่ราคา 4.14 บาท +2.76 บาท  พุ่งขึ้นซิลลิ่ง 200% และยังคงซิลลิ่งต่อในวันที่สอง 15% และต่อเนื่องถึงวันที่ 3 ส.ค. เปิดและปิดที่  5.45 บาท +0.69+14.50% มูลค่าการซื้อขาย 21 ล้านบาท  นอกจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งแล้ว ได้รับอานิสงส์จากตลาดไอพีโอกลับมาร้อนแรง  นำโดยบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT  กระโดดขึ้นแรงตั้งแต่วันแรก 2  ก.ค. เปิดในราคาหุ้นละ 55 บาท และปิดที่ 60.50 บาท +26.50 บาทหรือ+77.94% จากราคา IPO หุ้นละ 34 บาท  ล่าสุด 3 ส.ค. ปรับตัวขึ้นต่อ 2.75 บาทหรือ 3.37% ปิดที่ 84.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1,434 ล้านบาท คิดเป็นผลตอบแทนภายใน 1 เดือน สูงถึง 148%