HoonSmart.com>>ตลาดหุ้นไทยร่วงหนัก ต่างชาติทิ้งกว่า 2 พันล้านบาท ผิดหวังกำไรแบงก์ใหญ่ BBL-KBANK ตั้งสำรองสูงเกินคาด กดราคาร่วงกว่าที่นักวิเคราะห์หั่นเป้าหมาย กังวลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อผลงานเรียลเซคเตอร์ ตลาดซึมรอข่าวใหม่ บล.เคจีไอเห็นธนาคารกรุงเทพมีกำไรจากเงินลงทุนมากเกินคาด และยังซ่อนอีกเพียบ
ตลาดหุ้นวันที่ 22 ก.ค. ร่วงแรงกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาค เว้นฮ่องกงดิ่ง 2.25% ได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะกำไรของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ออกมาต่ำกว่าที่คาด จากการเร่งตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 2/63 ส่งสัญญาณร้ายต่อเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง หวั่นกระทบผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงดาวโจนส์ล่วงหน้าลงกว่า 100 จุด และยังมีข่าวว่าไทยอาจถูกขึ้นบัญชี Watchlist จากสหรัฐฯกรณีแทรกแซงค่าเงิน แม้ว่าจะมีการชี้แจงแล้วก็ตาม ดัชนีปิดเกือบระดับต่ำสุดที่ 1,357.04 จุด -19.96 จุดหรือ -1.45% ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 63,862.78 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติทิ้งหนัก 2,108 ล้านบาท พอร์ตบล.ตามด้วย 1,206 ล้านบาท ส่วนรายย่อยรับไม่ไหว 2,743 ล้านบาท
หุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) นำขบวนปรับตัวลงแรงตั้งแต่เปิดตลาด และปิดที่จุดต่ำสุด 102.50 บาท ติดลบ 6 บาทหรือ -5.53% ด้วยมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 2,646 ล้านบาท หลังจากกำไรออกมาแย่กว่าที่คาดการณ์ โดยเหลือเพียง 3,094 ล้านบาท เท่ากับ ธนาคารทหารไทย (TMB) แต่น้อยกว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่มีการตั้งสำรองฯลดลง 1,665 ล้านบาท หรือ 17.5% จากไตรมาสแรก ขณะที่ธนาคารกรุงเทพต้องรับภาระของธนาคารเพอร์มาตาจากอินโดนีเซียเป็นครั้งแรก ทำให้มีหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง แต่ช่วยเพิ่มในส่วนของสินเชื่อและเงินฝากเติบโต
นักวิเคราะห์มีการปรับลดราคาเป้าหมายและประมาณการกำไรของแบงก์ใหญ่ในปีนี้และปีหน้า ทั้ง BBL ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) แต่หลายสำนักยังคงแนะนำ”ซื้อ” และราคาเป้าหมายใหม่ยังสูงกว่าในตลาด แต่ยังไม่รีบซื้อ เพราะปัจจัยลบเรื่องปรับประมาณการยังคงรบกวนราคาในระยะสั้น
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) อยู่ระหว่างปรับประมาณการคำแนะนำและราคาเป้าหมาย BBL เนื่องจากกำไร 6 เดือนแรกคิดเป็นแค่ 37% ของประมาณการกำไรปีนี้ ขณะที่สำรองมีแนวโน้มจะสูงกว่าที่ประเมินเอาไว้
ธนาคารกรุงเทพประกาศกำไรไตรมาส 2/63 ออกมา 3,094 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 55% และต่ำกว่า consensus 60% เนื่องจากมีการตั้งสำรองสูงเกินคาด แม้ว่ากำไรจากเงินลงทุนในหุ้นจำนวนมากถึง 7,100 ล้านบาท บันทึกผ่านงบกำไรขาดทุนในไตรมาส 2 และมีกำไรที่ยังไม่รับรู้อีก 2 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 10 บาท/หุ้น จากหุ้นกู้ บันทึกรวมอยู่ในส่วนผู้ถือหุ้น
” ผลตอบแทนสินเชื่อ และมาร์จิ้นลดลงอย่างมาก NIM ถูกกดดันหนักในไตรมาส 2/63 ถูกบิดเบือน ส่วนหนึ่งมาจากการรวมงบการเงินธนาคารเพอร์มาตาในอินโดนีเซีย ถึงแม้ว่า BBL จะจัดชั้นสินเชื่อตามนโยบายที่ผ่อนคลายของ ธปท. แล้ว แต่ NPLs ก็ยังคงเพิ่มขึ้นถึง 27% จากไตรมาสแรกและ 32% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจาก NPLs ของเพอร์มาตา ดังนั้น BBL จึงปรับมาอยู่ในโหมดที่ระมัดระวังมากขึ้น โดยตั้งสำรองเพิ่มอีก 1.30 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 2 และ 1.80 หมื่นล้านบาทในครึ่งปีแรก จากเป้าปีนี้ทั้งปีที่ธนาคารเคยตั้งไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ NPLs ที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้สัดส่วน NPL coverage ลดลงเหลือแค่ 170% จาก 200% ในไตรมาสแรก
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) แนะนำ “ถือ” หุ้น BBL ราคาเป้าหมาย 107 บาท นับว่าต่ำที่สุด เทียบกับ บล.ทิสโก้ ให้สูงถึง 154 บาท บล. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ แนะทยอยซื้อ มูลค่าเหมาะสม 142 บาท บล.เคทีบี ซื้อ ราคา 130 บาท
ส่วนบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ชอบ BBL แนะนำ”ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 130 บาท เนื่องจากงบดุลแข็งแกร่งกว่าและความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์น้อยกว่า ขณะที่งบไตรมาส 2/63ดีกว่าคาด จากกำไรจากการลงทุนบันทึกครั้งเดียว
ส่วน SCB บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ แนะนำให้ “ถือ” ราคาเป้าหมาย 70 บาท หลังรายงานกำไรสุทธิ 8.4 พันล้านบาทในไตรมาสในไตรมาส 2 ลดลง 24% เทียบไตรมาสเดียวปีก่อน จากการตั้งสำรองที่สูงขึ้นและ10% จากไตรมาสแรก เนื่องจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง สินเชื่อลดลง 1% แม้ว่า NPLs จะลดลง 5%จากไตรมาสแรกมาอยู่ที่ 8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากธนาคารได้ขายและตัดหนี้สูญจำนวน 6.2 พันล้านบาท มองว่ายังไม่สะท้อนผลกระทบที่แท้จริงจากโควิด-19 เนื่องจากธนาคารสามารถจำแนกสินเชื่อที่ไม่ได้รับการชำระเป็นสินเชื่อที่ดี ในบรรดาสินเชื่อธุรกิจ เรากังวลเกี่ยวกับลูกค้า SME มากกว่าธุรกิจ เพราะ SME มีกระแสเงินสดที่สั้นกว่ามากเมื่อเทียบกับบริษัท สำหรับสินเชื่อรายย่อย เราห่วงสินเชื่อเช่าซื้อ เนื่องจากมูลค่าหลักประกันที่เสื่อมค่าซึ่งอาจนำไปสู่ผลขาดทุนที่เพิ่มขึ้นจากการขายรถยนต์ยึดคืนหลังจากสิ้นสุดมาตรการบรรเทาหนี้ในไตรมาส ที่ 4