HoonSmart.con>>แบงก์ประกาศกำไรไตรมาส 2/63 ออกมาเกือบครบ ส่วนใหญ่เป็นไปตามคาด เว้น กสิกรไทย นักวิเคราะห์ไม่ไว้วางใจสถานการณ์หนี้เสีย คาดสำรองสูงต่อในครึ่งปีหลัง ถือโอกาสปรับประมาณการกำไร-ราคาเป้าหมายรายตัว กรุงศรีฯ ยัน 6 เดือนปีนี้ กำไร 13,540 ล้านบาท อย่าตกใจทรุดลง 31% เพราะปีก่อนมีกำไรพิเศษจากขายหุ้น เงินติดล้อ
ธนาคารพาณิชย์ประกาศผลกำไรสุทธิไตรมาส 2/63 ออกมาเกือบครบ เหลือธนาคารกรุงเทพ (BBL) โดยรวมกำไรต่ำกว่าไตรมาสแรกและระยะเดียวกันปีก่อน สาเหตุสำคัญมาจากการสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นสูงมาก ซ้ำเติมภาวะธุรกิจตกต่ำ อาทิ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ จำนวน 8,320 ล้านบาท พุ่งขึ้น 70.08% จากไตรมาสแรก และรวมครึ่งปีนี้ 16,937 ล้านบาท เพิ่มกว่าเท่าตัว 111.97% และธนาคารกรุงไทย (KTB) สำรองถึง 14,710 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 2/62 มีสำรองจำนวน 5,561 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิต่ำกว่าที่คาดการณ์ และนักวิเคราะห์บางแห่งกำลังทบทวนประมาณการกำไรและราคาเป้าหมาย
ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประกาศกำไรสุทธิ 8,360 ล้านบาท ลดลงเพียง 9.62% จากไตรมาสแรก หดตัว 24% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แม้ตั้งสำรองสูงขึ้นเป็น 9.7 พันล้านบาท กำไรออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ แต่ความกังวลที่จะมีภาระสำรองเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลัง จึงมีการปรับประมาณการกำไรและราคาเป้าหมายลง
บล.ทรีนีตี้ แนะนำ “ซื้อ” SCB มองแนวโน้มครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยกดดันจากสำรองหนี้ จึงปรับลดประมาณการอีกเล็กน้อย 7.5% เหลือ 28,285 ล้านบาท หรือหดตัว 30% จากปี 62 ขณะที่แนวโน้มในปี 64 คาดค่าใช้จ่ายสำรองหนี้จะลดลงตามสถานการณ์ที่ดีขึ้น ทำให้กำไรเริ่มฟื้นตัวได้จึงให้ราคาเป้าหมายใหม่ 85 บาท มอง Upside น่าสนใจ แต่ด้วยผลประกอบการในครึ่งปีหลังที่อาจยังไม่ฟื้นตัว จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงในระยะสั้นไปก่อน
นอกจากนี้ บล.ทรีนีตี้ แนะนำ “ซื้อ” หุ้นธนาคารทหารไทย (TMB) ให้ราคาเป้าหมายใหม่ 1.20 บาท/หุ้น หลังประกาศกำไรไตรมาส 2/63 จำนวน 3,095 ล้านบาท อ่อนตัว 26%จากไตรมาสแรก แต่โต 61%เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ถือว่าใกล้เคียงกับที่คาด แต่ปรับประมาณการกำไรปี 63 ลงอีก 11% ลงเหลือ 12,820 ล้านบาท เติบโต77%จากปีก่อนหน้า เพื่อสะท้อนคุณภาพหนี้ในครึ่งปีหลังที่อาจแย่ลง มองราคาหุ้นยังมี Upside แต่ปัจจัยกดดันที่รออยู่ในครึ่งปีหลังทำให้ราคาหุ้นอาจขาดปัจจัยหนุนระยะสั้น
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) แนะนำ “ขาย” KBANK ราคาเป้าหมาย 80 บาท/หุ้น คาดอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อเฉลี่ย (Credit cost) สูงต่อเนื่องในปี63- 65 เชื่อว่าเป้าหมาย P / BV ที่ระดับต่ำกว่า 0.5 เท่านั้นเหมาะสม เนื่องจาก ROE ของแบงก์จะยังคงต่ำกว่า 5.0% ในปี 63-65 ชอบ BBL (ซื้อ, ราคาเป้าหมาย 130 บาท) มากกว่า KBANK เนื่องจากงบดุลแข็งแกร่งกว่าและความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์น้อยกว่า
“เราคาดว่า NIM จะลดลงเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ในครึ่งปีหลัง เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยและรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลงจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ คาด NPL เพิ่มขึ้นหลังจบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในไตรมาส 4 ”
ธนาคารกสิกรไทยมีสินเชื่อในโครงการช่วยเหลือลูกหนี้คิดเป็น 40% ของสินเชื่อรวมหรือ 8.28 แสนล้านบาท จากทั้งหมด 90% เป็นลูกหนี้ธุรกิจและ 10% เป็นรายย่อย สำหรับสินเชื่อธุรกิจ 60% ยังคงชำระหนี้ต่อ ส่วนอีก 30% มีแนวโน้มที่จะชำระหลังจากสิ้นสุดมาตรการฯ และ 10% (หรือ 7.8 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ SMEs) เป็นกลุ่มเสี่ยงและต้องการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มเติมหลังจากสิ้นสุดมาตรการฯ ประเด็นนี้จะนำไปสู่ต้นทุนเครดิตที่สูงขึ้นหากกลุ่มนี้กลายเป็น NPL
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประกาศผลงาน ไตรมาส 2/63 มีกำไรสุทธิ 6,507 ล้านบาท ลดลง 7.46% จากไตรมาสแรกและลดลงประมาณ 7.17% เทียบกับไตรมาส 2/62 รวมครึ่งปีนี้มีกำไรสุทธิ 13,540 ล้านบาท ลดลง 31.42% จากที่ทำกำไรได้ 19,746 ล้านบาทในระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งมีการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้นจำนวน 50% ของบริษัท เงินติดล้อในปีก่อน หากไม่รวมรายการพิเศษ กำไรลดลงเพียง 4 พันล้านบาทหรือ 2.9% เท่านั้น
ปัจจัยหลักที่ทำให้กำไรลดลง มาจากการเพิ่มขึ้นของค่าเผื่อการขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 4.3 พันล้านบาท ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 และนโยบายการตั้งสำรองด้วยความรอบคอบระมัดระวังในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวรุนแรง
“6 เดือนแรกปีนี้ สินเชื่อโต 2% หรือจำนวน 36,900 ล้านบาทจากสิ้นปีก่อน ส่วนเงินฝาก เพิ่มขึ้น 8.4% หรือจำนวน 1.31แสนล้านบาท สอดคล้องกับอุตสาหกรรมธนาคารทั้งระบบ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.74% เพิ่มขึ้นจาก 3.69% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 เนื่องจากต้นทุนทางการเงินลดลง แต่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยทรุดลงถึง 40.3% หรือจำนวน 1.07 หมื่นล้านบาท เพราะไม่มีการบันทึกกำไรจากการลงทุน และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง”
นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เศรษฐกิจจะเผชิญกับภาวะถดถอยมากที่สุดในปี 2563 คาดหดตัว 10.3% เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ ธนาคารจะดูแลและบริหารจัดการในเรื่องคุณภาพของสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง เพื่อให้มั่นใจทั้งด้านความปลอดภัยและความแข็งแกร่ง ขณะที่กรุงศรีจะยังคงให้การสนับสนุนลูกค้าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมอย่างต่อเนื่อง