คลุกวงในหุ้น : เลี่ยงหุ้นไม่จ่ายปันผล

คลุกวงในหุ้น

โดย… สุนันท์ ศรีจันทรา

มีเพื่อนคนหนึ่งเพิ่งระบายความอึดอัดใจให้ฟัง โดยเล่าว่าได้ร่วมลงทุนกับบริษัทแห่งหนึ่ง วงเงินร่วม 1 ล้านบาท และอยู่ในฐานะผู้ถือหุ้นรายย่อย แต่ลงทุนอยู่หลายปี แม้บริษัทมีกำไร แต่ผู้บริหารบริษัทไม่ยอมจ่ายเงินปันผล

บริษัทแห่งนี้ดำเนินธุรกิจรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางตามใบสั่งลูกค้า และผลิตเครื่องสำอางจำหน่ายเองด้วย มีรายได้ปีละประมาณ 100 ล้านบาท มีกำไรปีละนับสิบล้านบาท

ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ได้ชักชวนให้ร่วมลงทุน และเป็นผู้กุมอำนาจบริหารเบ็ดเสร็จ ตั้งเงินเดือนตัวเองไว้สูงลิ่ว มีงบรับรองมากมาย ใช้จ่ายเงินบริษัทกินเที่ยวอย่างฟุ้งเฟ้อ แต่ไม่ยอมจ่ายเงินปันผล ทำให้ผู้ร่วมลงทุนจึงไม่เคยได้รับผลตอบแทนใด แม้กิจการมีกำไรดีก็ตาม

จะทวงถามถึงเงินปันผลก็เกรงใจ เพราะรู้จักกันดี แต่จะปล่อยไว้ ก็รู้สึกถูกเอาเปรียบและถูกโกง เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่สามารถนำเงินบริษัทใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายได้ โดยไม่มีใครสามารถตรวจสอบการใช้จ่าย

เมื่อทนถูกเอาเปรียบไม่ได้ จะขอถอนหุ้น ขอเงินคืนก็ถูกบ่ายเบี่ยง

พฤติกรรมของเจ้าของบริษัทแห่งนี้แล้ว ไม่แตกต่างจากผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่ง ซึ่งบริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานต่อเนื่องหลายปี แต่ผู้บริหารจะดองเงินสดๆ ไว้ ไม่ยอมจ่ายเงินปันผลคืนผู้ถือหุ้น เพราะการที่มีเงินสดกำไว้ในมือ ฝ่ายบริหารสามารถนำไปใช้จ่ายอย่างฟุ้งเฟ้อ หรือหาโอกาสผ่องถ่ายได้ แต่จะตุนเงินไว้ โดยโยกเงินไปซื้อทรัพย์สินหรือลงทุน และหา “เงินทอน”

บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ ประกาศนโยบายการจ่ายเงินปันผลไว้อย่างชัดเจน จะจ่ายในสัดส่วนกี่เปอร์เซนต์ของกำไรสุทธิในแต่ละปีก็ว่ากันไป แต่มีหลายบริษัทเหมือนกันที่ไม่ยอมทำตามนโยบาย ไม่ยอมจ่ายเงินปันผล ซึ่งผู้ถือหุ้น ต้องหวังผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาหุ้นเพียงอย่างเดียว

ถ้าหุ้นขึ้นไม่เป็นไร แต่ถ้าหุ้นไม่ขึ้น ผู้ถือหุ้นรายย่อยจะตกอยู่ในสภาพแห้งเหี่ยวตาย ไม่สามารถแสวงหาผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาหุ้นได้ และไม่มีเงินปันผลตอบแทนมาหล่อเลี้ยง

บริษัทจดทะเบียนที่มีนโยบายไม่จ่ายเงินปันผลเคยมีเหมือนกัน โดยย้อนหลังไปประมาณ 30 ปีก่อน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด หรือ TISCO ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประกาศนโยบายชัดเจน จะไม่จ่ายเงินปันผลเป็นเงินสด แต่จะจ่ายปันผลเป็นหุ้น

นักลงทุนที่ลงทุนหุ้น TISCO ในยุคนั้น ต้องหวังกำไรจากส่วนต่างราคาหุนแต่เพียงประการเดียว

TISCO ต้องการนำเงินกำไรไปขยายการลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีคืนกลับผู้ถือหุ้น เพราะถ้าผลประกอบการเติบโต ราคาหุ้นจะสะท้อนรับ ผู้ถือหุ้นจะมีผลตอบแทนที่ดีจากส่วนต่างราคา

แต่ปัจจุบัน บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ มีนโยบายจ่ายเงินปันผล โดยเมื่อมีกำไรจะต้องจ่ายเงินปันผล

บริษัทจดทะเบียนใดที่มีกำไร โดยเฉพาะมีกำไรหลายปีติดต่อ ถ้าไม่ยอมจ่ายเงินปันผลสักที นักลงทุนพึงต้องระวังไว้ เพราะฝ่ายบริหารบริษัทฯ ส่อพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้วางใจ และอาจมีแผนผ่องถ่ายเงินของผู้ถือหุ้นทุกคนออกก็ได้

เงินผลกำไรจากการดำเนินงาน ถ้าฝ่ายบริหารบริษัทฯ นำไปลงทุน และมีผลตอบแทนที่ดีคงไม่เป็นไร แต่ถ้านำไปผลาญ หรือ ไซ่ฟ่อนออกไป ผู้ถือหุ้นทุกคนต้องเสียหาย

ผลกำไรจากการดำเนินงาน ควรจะนำมาจัดสรรจ่ายเป็นผลตอบแทนคืนผู้ถือหุ้น แต่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนบางแห่ง ไม่ยอมให้เงินหลุดจากมือ ไม่ยอมคืนกำไรให้ผู้ถือหุ้น แต่จะหาจังหวะผ่องถ่ายเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง เช่นเดียวกับบริษัทกิจการเครื่องสำอางที่หวังจะ “กอบโกย” คนเดียว

ไม่ยอมแบ่งปันแม้กระทั่งผู้ถือหุ้นรายเล็กหรือรายย่อยที่อุตส่าห์ไว้ใจ ร่วมลงทุนด้วย

การเลือกหุ้นลงทุนจะมองข้ามปัญหาเล็กๆ น้อยๆ หรือ ไม่สนใจรายละเอียดปลีกย่อยไม่ได้ เพราะรายละเอียดปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ อาจเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ชี้วัดว่า บริษัทจดทะเบียนใดมีพฤติกรรมอย่างไร เป็นหุ้นดีหรือหุ้นร้าย และควรเข้าไปลงทุนหรือไม่

หุ้นบริษัทจดทะเบียนใด มีกำไรสะสมไว้หลายปี แต่ผู้บริหารบริษัทฯ ไม่ยอมจ่ายเงินปันผล จงตั้งสมมุติฐานไว้ก่อน อาจเป็นหุ้นร้ายที่มีเป้าหมายจ้องจะ “กิน” หรือจ้องจะโกงผู้ถือหุ้นรายย่อยก็ได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการลงทุน