KBSPIF เปิดขาย 4-7 ส.ค. มูลค่า 2,800 ลบ.คาดปันผลปีแรก 6.24%

HoonSmart.com>>กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลครบุรี  ระดมทุน 2,800 ล้านบาท ลงทุนในผลประโยชน์จากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล  บริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี  สัดส่วน  62% ของรายได้ขายไฟให้กฟผ.  22 เมกะวัตต์ บริษัทน้ำตาลครบุรี อีก 3.5 เมกะวัตต์ ตลอดอายุสัญญา 20 ปี  คาดอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน 7% กำหนดจองซื้อหน่วยลงทุนวันที่ 4-7 ส.ค. 2563 นี้ ในราคาหน่วยละ 10 บาท ที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา 

อิสสระ ถวิลเติมทรัพย์

นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลครบุรี (KBS) ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายอย่างครบวงจร เปิดเผยว่า บริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี (KPP) ซึ่งกลุ่มน้ำตาลครบุรี ถือหุ้น 99.99% ได้จัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลครบุรี ( KBSPIF )เพื่อลงทุนในโรงไฟฟ้าที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ และให้โอกาสผลตอบแทนที่ดีแก่กองทุน KBSPIF โดย KPP จะนำเงินไปลงทุนขยายโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งใหม่ เช่น ที่อ.สี่คิ้ว จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 18 เมกะวัตต์ (MW) ก่อให้เกิดการใช้กากที่เกิดจากกระบวนการผลิตน้ำตาลเป็นประโยชน์สูงสุดและช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้แก่ประเทศ

ปัจจุบันบริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี เป็นโรงไฟฟ้าระบบผลิตพลังงานความร้อนและไฟฟ้าร่วมกัน ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 73  MW  โดยผลการดำเนินงานเติบโตต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (2560-2562) มีรายได้รวมจากการจำหน่ายไฟฟ้าตามสัญญาในปี 2560 รวมทั้งสิ้น 689.21 ล้านบาท เพิ่มเป็น 901.59 ล้านบาทในปี 2561 และ 972.71 ล้านบาทในปี 2562  โดยมีสัญญาขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  และยังมีสัญญาซื้อขายไฟกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ. ) อีก 2 สัญญา ๆละ 8 MW

ในส่วนของวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้า  บริษัทเป็นผู้จัดหา นอกจากใช้กากอ้อยแล้ว ยังรับซื้อใบอ้อยแห้งจากชาวไร่  และใช้เศษชิ้นไม้ด้วย  ซึ่งสถานการณ์การปลูกอ้อย  และกากอ้อยได้ผ่านจุดวิกฤตภัยแล้งมาแล้ว แนวโน้มจะดีขึ้น ในอนาคตจะเพิ่มขึ้น หลังโรงงานที่ อ.สี่คิ้ว เริ่มผลิตอีก 1.2 หมื่นตัน/วัน จากปัจจุบันบริษัทผลิตน้ำตาลได้ 3.5 หมื่นตัน/วัน

ชวินดา หาญรัตนกูล

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) กรุงไทย ในฐานะบริษัทจัดการกองทุน KBSPIF กล่าวว่า กองทุน KBSPIFจะเสนอขายหน่วยลงทุนเป็นครั้งแรกแก่ประชาชนทั่วไป (IPO) วงเงินระดมทุนไม่เกิน 2,800 ล้านบาท เพื่อเข้าลงทุนในสิทธิในผลประโยชน์จากการประกอบกิจการไฟฟ้าของ KPP ในอัตรา 62% ของรายได้ตามสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. จำนวน 22 เมกะวัตต์ (รับเฉพาะรายได้ไม่รวมค่าใช้จ่ายและผลกระทบจากค่าเงิน-วัตถุดิบ)  และรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ บริษัท น้ำตาลครบุรี อีกจำนวน 3.5 เมกะวัตต์ รวมเป็น 25.5 เมกะวัตต์ โดยกองทุน KBSPIF จะมีระยะเวลารับโอนผลประโยชน์จากการจำหน่ายไฟฟ้าของ KPP ระยะเวลาประมาณ 20 ปีนับตั้งแต่วันที่จัดตั้งกองทุนฯ

ทรัพย์สินที่กองทุนรวม KBSPIF เข้าลงทุนนั้น เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่มีคู่สัญญาจำหน่ายไฟฟ้าประเภท Firm กับ กฟผ. ที่คิดอัตราค่าไฟฟ้า ต่อหน่วยของสัญญาอยู่ที่ 2.0577 บาท/กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง และสัญญาขายไฟฟ้ากับ KBS เท่ากับ 2.90 บาท/กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง สร้างความมั่นคงในกระแสรายได้ให้กับกองทุน KBSPIF

นอกจากนี้ บริษัทน้ำตาลครบุรี มีนโยบายเข้าถือครองหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 15% แต่ไม่เกิน 33% ของจำนวนหน่วยลงทุน เป็นระยะเวลา 10 ปี ตอกย้ำความเชื่อมั่นในศักยภาพการสร้างรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่หน่วยงานภาครัฐได้ตลอดอายุสัญญา และกองทุน KBSPIF ยังมีโอกาสในการเติบโตจากการนำโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งใหม่เข้าระดมทุนเพิ่มเติมในอนาคตอีกด้วย

กองทุน KBSPIF มีนโยบายจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ซึ่งกำหนดการจ่ายไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรสุทธิที่ได้ปรับปรุงแล้ว จากการประมาณการอัตราการปันส่วนแบ่งผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 อยู่ที่ 8.95%แบ่งเป็นเงินปันผล 6.24% และเงินลดทุน 2.71% โดยประมาณการอัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) อยู่ที่ประมาณ 7.00% โดยการลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานได้รับสิทธิประโยชน์ไม่ต้องจ่ายภาษี หัก ณ ที่จ่าย 10% นับตั้งแต่วันที่จัดตั้งกองทุน เป็นเวลา 10 ปี

” KBSPIF เป็นกองทุนไฟฟ้าชีวมวล ที่เป็นแนวโน้มของโลก  และตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เอาทรัพย์สินที่มีศักยภาพในอนาคต นำมาตอบโจทย์นักลงทุน โดยบลจ.กรุงไทยเคยมีประสบการณ์ทำกองทุนของกฟผ.มาก่อน รู้จุดอ่อนจุดแข็ง มาพัฒนากองปัจจุบัน  ซึ่งมีโอกาสเติบโตในระยะยาว เหมาะสำหรับลงทุนระยะยาว  ทั้งนักลงทุนรายบุคคล และสถาบัน  เช่นบริษัทประกัน  ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 10 และ 30 ปี “นางชวินดากล่าว

นางสาวพิจิตตรา ไตรรัตนธาดา ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า กองทุน KBSPIF กำหนดราคาเสนอขายหน่วยลงทุนอยู่ที่ 10 บาทต่อหน่วย เปิดจองวันที่ 4-7 ส.ค. ผ่านธนาคารกรุงำทยทุกสาขา  กองทุนมีจุดเด่นด้านโครงสร้างการแบ่งกระแสรายได้เข้ากองทุนรวมฯ ที่มีความผันผวนต่ำจากสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าระยะยาว เพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอให้แก่นักลงทุนคล้ายกับการลงทุนในตราสารหนี้

นอกจากนี้ กองทุน KBSPIF ยังได้ปิดความเสี่ยงการขาดแคลนวัตถุดิบผลิตกระแสไฟฟ้า ได้แก่ กากอ้อย จากการเข้าทำสัญญากับ KBS ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายใหญ่ของประเทศ ในการจัดหาวัตถุดิบที่เกิดจากกระบวนการผลิตน้ำตาลมาป้อนให้แก่โรงไฟฟ้าตลอดอายุสัญญากองทุน เพื่อให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่าโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่กองทุนฯ เข้าลงทุนจะมีวัตถุดิบที่เพียงพอสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอให้แก่นักลงทุน