HoonSmart.com>> “ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้” พลิกขาดทุนสุทธิ 41 ล้านบาท จากงวดปีก่อนกำไร 39 ล้านบาท เหตุโควิด-19 ฉุดเงินบาทอ่อนค่า ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนและเงินลงทุนในบริษัทย่อย ด้านรายได้รวมยังเติบโต
บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2563 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.2563 พลิกขาดทุนสุทธิ 41.36 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.028 บาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 39.42 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.026 บาท
บริษัทฯ มีผลขาดทุนซึ่งมีผลมาจากรายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานหลักของบริษัทฯ ในไตรมาส 1/2563 และปี 2562 จำนวน 102 ล้านบาท และ 14 ล้านบาท ตามลำดับ โดยขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ในการขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract และ ForwardOption) ในไตรมาส 1 ของปี 2563 และปี 2562 เท่ากับ 67 ล้านบาท และ 4 ล้านบาทตามลำดับ โดยขาดทุนเพิ่มขึ้น 63 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ซึ่งไม่สามารถคาดคะเนได้นั้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอย่างมากเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงไตรมาสที่ 1/2563
นอกจากนี้ขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงสถานะเงินลงทุนในบริษัทย่อย FPI AUTOPARTS INDIA PRIVATE LIMITED จ านวน 22 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2563 โดยมีสาเหตุหลักจากการที่บริษัทฯ ได้เข้าซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิม 55% ในราคาหุ้นละ 8.6369 อินเดียรูปี รวมถึงค่าเงินอินเดียรูปีที่อ่อนค่าลงประมาณ 17% จึงต้องตีมูลค่าเงินลงทุนใหม่สำหรับหุ้นเดิมที่บริษัทฯ ถืออยู่ 45% ในราคาพาร์ 10 อินเดียรูปี
บริษัทฯ ยังขาดทุนจากการวัดมูลค่าของสินทรัพย์ที่ถือไว้เพื่อขาย จำนวน 3 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯ ได้ตกลงที่จะขายเงินลงทุนใน บริษัท เซฟ เอนเนอร์จี โฮลดิ้งส์ จำกัด ให้แก่ผู้จะซื้อตามสัญญาจะซื้อจะขาย ลงวันที่ 25 ก.พ.2563 ซึ่งราคาจะซื้อจะขายที่ตกลงกันนั้น 222.9 ล้านบาท โดยเป็นราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าของเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้ส่วนเสีย เท่ากับ 3 ล้านบาท
สำหรับรายได้รวมในไตรมาส 1/2563 และปี 2562 เท่ากับ 536 ล้านบาท และ 484 ล้านบาท ตามลำดับ เพิ่มขึ้น 52 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 11% โดยมีรายได้จากการขายและบริการของไตรมาส 1/2563 และปี 2562 เป็นเงิน 530 ล้านบาท และ 481 ล้านบาท ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นเงิน 49 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10%
สาเหตุหลักมาจากยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น 32 ล้านบาท หรือ 47% จากการขายงาน OEM ของรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า ไดฮัทสุ มิตซูบิชิ และ มาสด้า BT50 โดยบริษัทขายสินค้าผ่านบริษัทในประเทศไทยเพื่อส่งออกไปในประเทศญี่ปุ่ นและประเทศอื่นๆ และยอดขายต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น 29 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12% จากการขายให้แก่ลูกค้ารายใหญ่ในประเทศซาอุดิอาระเบียเพิ่มขึ้น เนื่องจากไตรมาส 1/2563 ประเทศผู้ขายหลายประเทศได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ส่งผลให้มีการปิดประเทศ เช่น ประเทศจีน และ มาเลเซีย ดังนั้นลูกค้าจึงซื้อและสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทฯเพิ่มขึ้นจำนวนมาก
ขณะเดียวกันบริษัทได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 4% จากอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 31.62 ในไตรมาส 1/2562 เป็น 30.34 ในไตรมาส 1/2563 ส่งผลให้รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แต่อย่างไรก็ตามบริษัทยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตของรายได้ที่เพิ่มขึ้นในอัตรา 10%