HoonSmart.com>>ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) มองตลาดเงินโลกผันผวน ช่วงสั้นค่าเงินบาทอ่อนเจอครม.กดดันห่วงนโยบายสะดุด ปลายปีแข็งแตะ 31 บาท ลุ้น 30 บาทหากท่องเที่ยวกลับมา คาดดอกเบี้ยนโยบายลดเดือนส.ค. 0.25% นักลงทุนหวังผู้ว่าธปท.คนใหม่ ทำคิวอีเพิ่มเติม
นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดการเงินทั่วโลกในช่วงที่เหลือของปี 63 ยังคงมีความผันผวน แม้ว่าจะเริ่มเห็นเงินทุนไหลกลับเข้ามาในสินทรัพย์ต่างๆ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ในส่วนของไทยมีเงินไหลเข้าในตลาดตราสารหนี้ เดือน มิ.ย.และ ก.ค.กว่า 3 หมื่นล้านบาท และ 1 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ หลังจากในช่วง 5 เดือนแรก ไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทย 1.5 แสนล้านบาท สะท้อนว่านักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจต่อประเทศไทยมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทางการเมืองที่เกิดขึ้นล่าสุดเกี่ยวกับการปรับทีมเศรษฐกิจและคณะรัฐมนตรีใหม่ จะกดดันต่อความมั่นใจของนักลงทุนในระยะสั้น เงินบาทในเช้านี้(16ก.ค.) อ่อนตัวลงค่อนข้างมาก เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอาจจะเกิดการสะดุดชั่วคราว โดยเฉพาะโครงการลงทุนของภาครัฐ ที่ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังกังวลว่ามาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบของโควิด-19 ที่กำลังจะสิ้นสุดในเดือนก.ค.นี้ จะเกิดการสะดุดหรือไม่ ส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้อย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 63 นายทิมกล่าวว่า ธนาคารคาด GDP ติดลบ 5% หากไม่เกิดการแพร่ระบาดรอบสอง เศรษฐกิจจะฟื้นตัวในไตรมาส 3 จะติดลบ 1% และ0% ในไตรมาส 4 โดยในไตรมาส 2 จะต่ำสุดของปีนี้ที่ติดลบ 13% โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ที่ตัวเลขเศรษฐกิจจะกลับไปจุดสูงสุดเดิมที่ขยายตัว 4% ส่วนปี 64 ขยายตัวแค่ 2% ซึ่งต้องดูว่าการผลิตวัคซีนโควิด-19 จะออกมาใช้ได้จริงเมื่อไหร่ และปัจจัยท่องเที่ยวจะกลับมาปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าได้ไหม
สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะพิจารณาปรับลดลงอีกครั้งในเดือนส.ค.นี้ เหลือ 0.25% ต่อปี จากปัจจุบัน 0.50% ต่อปี นักลงทุนยังมีความคาดหวังการทำมาตรการ QE จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาเพิ่มเติม หลังจากที่ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่เข้ารับตำแหน่ง ซึ่งจะช่วยหนุนต่อตลาดเงินแลขตลาดทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้ ส่วนค่าเงินบาทในสิ้นปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ดีต่อเนื่อง จะส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามา และยิ่งหากกลับมาเปิดการท่องเที่ยวได้สำเร็จในช่วงปลายปีนี้ มีโอกาสที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าแตะ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ