กลุ่ม PTT ตั้งทีมศึกษา แผนลงทุนปิโตรฯ ขั้นปลาย

HoonSmart.com>> กลุ่มปตท.รวมพลัง ตั้งทีมศึกษาแผนลงทุนปิโตรเคมีขั้นปลาย เพิ่มประสิทธิภาพ ไออาร์พีซีจับมือไทยออยล์-พีทีที แทงค์ฯ   สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ประโยชน์จากที่ดิน 12,000 ไร่

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทปตท. (PTT) ได้จัดตั้งทีม เพื่อศึกษาแนวทางการทำงานร่วมกัน ในส่วนของธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ของกลุ่มว่าจะร่วมกันดำเนินงานอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายลดการทำงานและลงทุนที่ซ้ำซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพร่วมกัน ลดต้นทุน และควบคุมค่าใช้จ่าย

สำหรับบริษัทไออาร์พีซีมีเป้าหมายจะจัดทำโครงการผลิตอะโรเมติกส์ (MARS) สร้างโรงงานแห่งใหม่เพื่อผลิตพาราไซลีน (PX) 1.1-1.3 ล้านตัน/ปี ได้ชะลอโครงการออกไปไม่มีกำหนด หลังเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 และความผันผวนของธุรกิจ ขณะที่บริษัทมีผลพลอยได้แนฟทา ส่วนเกินที่ส่งออกประมาณ 5 แสนตัน/ปี จะนำไปพิจารณาร่วมกับบริษัทอื่น ๆ ในกลุ่มปตท. อย่างบริษัทไทยออยล์ (TOP) ที่อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ซึ่งเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและขยายกำลังการกลั่นน้ำมัน และจะทำให้มีแนฟทาออกมามาก อาจจะมาร่วมพิจารณาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต่อไป

นอกจากนี้ บริษัทได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินอล และ บริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด เพื่อเพิ่มช่องทางในการขยายตลาด โดยศึกษาพัฒนาเชื่อมต่อระบบขนส่งน้ำมันทางท่อ จากโรงกลั่นน้ำมัน IRPC ไปสู่ระบบขนส่งน้ำมันทางท่อของ Thappline เพื่อร่วมกันสร้างช่องทางขนส่งผลิตภัณฑ์น้ำมัน High Speed Diesel ตามมาตรฐาน Euro 5 และน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Jet A1) โดยที่บริษัท ไม่ได้เป็นผู้ลงทุนเอง แต่จะเป็นการจ้างบริการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมาร์จิ้น หรือคาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มประมาณ 500-600 ล้านบาท/ปี ซึ่ง โครงการดังกล่าวยังจะเป็นการรองรับการผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 ที่จะเสร็จภายในปี 66 ทำให้บริษัทมีช่องทางจำหน่ายน้ำมันในประเทศและรายได้ที่เพิ่มขึ้น

บริษัทยังร่วมมือกับ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล ซึ่งมีทีมขายก๊าซฯป้อนให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมจัดทำ Solution Provider นำเสนอให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมก๊าซฯ ซึ่งจะเป็นการช่วยขยายผลการขายเม็ดพลาสติก ชนิด HDPE สำหรับการนำมาผลิตเป็นทุ่นลอยน้ำ รองรับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนพื้นที่สระกักเก็บน้ำ หากลูกค้ามีความสนใจที่จะทำโครงการโซลาร์ลอยน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง ช่วยต่อยอดความสำเร็จจากโครงการโซลาร์ลอยน้ำในสระเก็บน้ำของ IRPC จ.ระยอง กำลังการผลิต 12.5 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งได้เปิดดำเนินการในช่วงเดือน มิ.ย.63

ส่วนการพัฒนาที่ดินของบริษัท ปัจจุบันมีที่ดินรวม 12,000 ไร่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ประมาณ 9,000 ไร่อยู่ในจ.ระยอง ซึ่งในส่วนนี้เป็นพื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี ต.เชิงเนิน มีประมาณ 6,000 ไร่ และยังมีพื้นที่เหลืออีก 1,000 ไร่ สำหรับรองรับขยายการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (ECC) ได้ 5 ปีข้างหน้า ส่วนอีก 2,000 ไร่ อยู่ในอ.บ้านค่าย ซึ่งได้พัฒนาพื้นที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมร่วมกับบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ขณะที่ยังมีพื้นที่ราว 2,000 ไร่ ในอ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งยังรอการพิจารณาโครงการส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ ของภาครัฐที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว