HoonSmart.com>>ตลาดหุ้นกู้เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ 6 เดือนแรกปีนี้ เอกชนระดมเงิน 3.23 แสนล้านบาท ทรุดลง 43% เจอสารพัดปัญหา แถมนักลงทุนสถาบันขอผลตอบแทนสูงขึ้นชดเชยความเสี่ยง คาดครึ่งปีหลังออกเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นบริษัทพลังงานทางเลือก ขยายลงทุนไม่หยุด เอกชนต้องเตรียมสภาพคล่องไว้รับมือกับความไม่แน่นอน นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาลงทุน แต่ยังไม่ลุยเต็มที่
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ในปี 2563 คาดว่าบริษัทเอกชนจะออกหุ้นกู้มูลค่าไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท จากครึ่งปีแรกออกจำนวน 3.23 แสนล้านบาท ลดลง 43% และคาดว่าครึ่งปีหลังจะออกมูลค่ากว่า 4.6 แสนล้านบาท โดยมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดและออกหุ้นกู้ใหม่ทดแทนหุ้นกู้เดิม (Rollover) มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท และออกหุ้นกู้ใหม่อีกกว่า 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทพลังงานทางเลือก ที่มีการลงทุนและซื้อกิจการอย่างต่อเนื่อง เช่น บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และ บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ (EA)
สำหรับผู้ออกในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ครึ่งปีแรกยังคงสูงเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 29 บริษัท มูลค่า 5.5 หมื่นล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนจำนวน 36 บริษัท มูลค่า 8.6 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะตลาดไม่คอยดี บริษัทไม่มีเรทติ้งที่แข็งแกร่ง ก็ชะลอ เพราะนักลงทุนระมัดระวังมากขึ้น บางรายเลื่อนมาออกในช่วงครึ่งปีหลังแทน
” หุ้นกู้ออกมาน้อยกว่าปี 62 ที่มีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ 1.08 ล้านล้านบาท หลังจากเดือนเม.ย.-พ.ค.ชะลอตัวไปบ้าง โดยลดลงทุกเรทติ้ง เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 และการล็อกดาวน์ แต่ตอนนี้สถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ ผู้ออกสามารถขายได้ใกล้เคียงกับที่ต้องการ เช่น ในเดือนมิ.ย. ทุกเรทติ้งขายได้ 100% ยกเว้น A- ถึง A+ ขายได้ 99.4% เทียบกับเมื่อเดือนเม.ย. เรทติ้ง BBB- ถึงBBB+ ขายได้จำนวน 41.4% และ High Yield ขายได้เพียง 34.6% เท่านั้น ทำให้ในเดือน มิ.ย.มีมูลค่า 72,935 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนที่มีมูลค่า 95,921 ล้านบาท”นางสาวอริยากล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้ออกหุ้นกู้ต้องมีต้นทุนสูงขึ้นเฉลี่ย 0.60 % ทุกเรทติ้ง เทียบกับต้นปีจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำก็ตาม แต่เผชิญกับปัญหาเรื่องขาดสภาพคล่องที่เกิดขึ้นกับตลาดรวมถึงกองทุน ทำให้นักลงทุนสถาบันที่จะซื้อหุ้นกู้ต้องบวกผลตอบแทนที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน มิ.ย.63 มีมูลค่าหุ้นกู้ทั้งหมด 3.88 ล้านล้านบาท ลดลง 0.68% จากสิ้นปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ระยะยาวที่มีการออกเพิ่มขึ้น และหุ้นกู้ระยะสั้นลดลง
นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ตราสารหนี้มีมูลค่าคงค้างรวม 13.69 ล้านล้านบาท ขยายตัวเล็กน้อย 1.25% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของพันธบัตรรัฐบาล ส่วนหุ้นกู้เอกชนลดลง 22% เทียบกับเฉลี่ยที่ออกในครึ่งแรกของ 5 ปีที่ผ่านมา คาดว่าในครึ่งปีหลัง เอกชนยังคงมีความต้องการออกหุ้นกู้ระยะยาว เพื่อเตรียมสภาพคล่องรองรับสถานการณ์ที่อาจไม่แน่นอน คาดว่าทั้งปีจะออกหุ้นกู้ระยะยาว 8 แสนล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากประมาณการเดิมที่ 8.5 แสนล้านบาท
ในช่วงครึ่งปีแรกพบว่ามีหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ขอขยายเวลาวันครบกำหนดอายุ จำนวน 10 บริษัท มูลค่ารวม 7,247.20 ล้านบาท โดยเป็นทั้งหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตที่ระดับ BB+ และไม่มีเรทติ้ง โดยระยะเวลาที่ขอขยาย 6 เดือน-2 ปี สถานการณ์ตลาดเริ่มดีขึ้นจนกลับมาปกติในเดือนมิ.ย. คาดว่าไม่น่าจะมีประเด็นหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ (Default) จนถึงสิ้นปีนี้ และไม่น่าจะมีมาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ (Yield Curve Control)
ส่วนแนวโน้มตลาดตราสารหนี้ในครึ่งปีหลังยังมีความไม่แน่นอนสูง เพราะสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในต่างประเทศ แต่อัตราการเสียชีวิตลดลง คาดว่าจะไม่เห็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกในปีนี้ หลังจากที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดในประวัติการณ์มาที่ 0.25% และการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายน่าจะมีข้อจำกัด แต่ปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ อาจทำให้ตลาดผันผวนได้
ในช่วง 6 เดือนแรก นักลงทุนต่างชาติมีการลงทุนลดลงสุทธิ 108,460 ล้านบาท โดยเป็นการขายสุทธิทั้งในตราสารหนี้ระยะยาว 61,075 ล้านบาท และระยะสั้น 47,390 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิ.ย.63 นักลงทุนต่างประเทศถือครองตราสารหนี้ไทยรวมทั้งสิ้น 811,070 ล้านบาท หรือเท่ากับ 9.07% ของมูลค่าคงค้างพันธบัตรรัฐบาลและธปท. สัดส่วนลดลง จาก 10.4% เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศไหลเข้ามาในเดือน มิ.ย. จำนวน 2-3.5 หมื่นล้านบาท และ 9 วันแรกของเดือน ก.ค.เข้ามา 11,700 ล้านบาท แนวโน้มน่าจะไหลเข้ามาอย่างระมัดระวัง หรือเข้ามาไม่มาก แม้ว่า Yield Curve ของไทยต่ำกว่าสหรัฐ เพราะสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ของไทยมีความเสี่ยงน้อยลง
สำหรับแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในครึ่งปีหลังขยับลง แต่ความชันเพิ่มขึ้น เนื่องจากดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ระดับต่ำต่อไป คาดเศรษฐกิจจะใช้เวลากว่าจะฟื้นตัวและแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจำเป็นต้องระดมทุนจำนวนมาก