HoonSmart.com>> JCKH ขายหุ้นเพิ่มทุน RO ฉลุย รับเงิน 43.76 ล้านบาท เตรียมชำระหนี้และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน หลังผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 อันดับแรก “อภิชัย เตชะอุบล” ควัก 38.97 ล้านบาท ซื้อหุ้นเกินสิทธิ ด้าน “ทวีฉัตร จุฬางกูร” ผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ใช้สิทธิตามจำนวน มั่นใจธุรกิจอาหารฟื้นตัวแน่หลังโควิด-19 คลี่คลาย
นายอภิชัย เตชะอุบล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เจซีเค ฮอสพิทอลลิตี้ (JCKH) เปิดเผยถึงผลการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท จำนวนไม่เกิน 125.05 ล้านหุ้น ซึ่งกำหนดเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering หรือ RO) ในราคาหุ้นละ 0.35 บาท ระหว่างวันที่ 22 – 26 มิ.ย.2563 ว่า บริษัทฯประสบความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน สามารถขายหุ้นครบตามจำนวนที่จัดสรร ส่งผลให้บริษัทฯได้รับเงินเพิ่มทุนจากการระดมทุนครั้งนี้รวม 43.76 ล้านบาท บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้ไปชำระหนี้บางส่วน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ
สาเหตุที่ทำให้การเพิ่มทุนในครั้งนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี บริษัทฯได้รับเงินตามที่กำหนดไว้ เนื่องจากผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 คือนายอภิชัย เตชะอุบล ได้ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วน และใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนส่วนเกินสิทธิที่เหลือทั้งหมด รวมถึงนายทวีฉัตร จุฬางกูร ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ได้ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามสิทธิเช่นเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่าผู้ถือหุ้นมีความเชื่อมั่นในธุรกิจของบริษัทฯมีโอกาสจะพลิกฟื้นกลับมาได้ หากพ้นช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของCOVID-19
“ผมใส่เงินเพิ่มทุนตามสิทธิจำนวน 11.56 ล้านบาท และซื้อเกินสิทธิในหุ้นเพิ่มทุนที่เหลืออีก 27.41 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 38.97 ล้านบาท เพราะมีความเชื่อมั่นว่าธุรกิจของJCKH ยังมีศักยภาพเติบโตได้ในอนาคต และแบรนด์ร้านอาหารภายใต้การบริหารจัดการของJCKH ที่มีอยู่ เป็นที่รู้จักของลูกค้า ทั้งร้านอาหารแบบบุฟเฟต์ ร้านอาหารแบบ A La Cart รวมไปถึงร้านอาหารแบบ Casual ซึ่งมีทั้งอาหารไทยและอาหารจีน ซึ่งร้านอาหารเหล่านี้ยังสามารถสร้างรายได้และเติบโตได้ หากสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลายและภาวะเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น”นายอภิชัย กล่าว
บริษัทฯ ยอมรับว่าในช่วงไตรมาส 1 และ ไตรมาส 2 ของปีนี้ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ทำให้สาขาส่วนใหญ่ต้องปิดกิจการเป็นการชั่วคราว แต่คาดว่าสถานการณ์ที่เริ่มคลี่คลายในช่วงครึ่งปีหลัง ประกอบกับการผ่อนปรนมาตรการ Lock Down และนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านการใช้จ่ายของประชาชน เช่น มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว มาตรการเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้กลับคืนมา และน่าจะทำให้ธุรกิจสามารถฟื้นตัวและกลับมามีกำไรได้ในอนาคตอันใกล้
ขณะเดียวกันบริษัทฯ พยายามปรับตัวโดยการลดค่าใช้จ่าย เช่น เจรจาขอลดค่าเช่า ปิดสาขาที่มีผลการดำเนินงานขาดทุน รวมถึงการหาช่องทางในการสร้างรายได้ทางอื่นเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการขยายช่องทางการจัดจำหน่าย (Delivery) การออกบู๊ทขายอาหารทั้งอาหารปรุงสุกพร้อมทาน อาหารแช่แข็ง ตลอดจนการขายซอสน้ำจิ้มสุกี้ที่เป็นเอกลักษณ์ของบริษัท เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความหลากหลายให้มากยิ่งขึ้น