HoonSmart.com>>ตลาดหุ้นไทยเก่ง ไตรมาส 2/63 ดัชนีพุ่งแรง 214 จุด ไม่สนล็อกดาวน์กดเศรษฐกิจจมลึกที่สุดในประวัติศาสตร์ ธปท.เผยเดือนมิ.ย.เห็นสัญญาณฟื้นตัวตามแรงกระตุ้นทั่วโลก AOT เผย 8 เดือน ผู้โดยสารหายไป 34% ครม.อนุมัติงบกว่า 2 หมื่นล้านบาทกระตุ้นเที่ยวไทย เผย 4 หุ้น นิวไฮในรอบ 1 ปี CBG-TQM-RBF-TASCO ราคาเริ่มนิ่ง หลายตัวเล่นเกินเป้านักวิเคราะห์ บิ๊ก “อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย” ย้ำรายได้ปีนี้โต 10-12% ราคาหุ้นวิ่งเฉียด 90% นับตั้งแต่ต้นปี ล่าสุดมีบิ๊กล็อต BJC 31 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ย 40.50 บาท มูลค่า 1.25 พันล้านบาท
ตลาดหุ้นวันที่ 30 มิ.ย. 2563 ดัชนียังคงบวกต่อ 9 จุด ปิดที่ 1,339.03 จุด ส่งผลให้ไตรมาสที่ 2 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 214 จุด คิดเป็น 19.02% พลิกจากไตรมาส 1 ที่ดิ่งลงแรง 454 จุดหรือ 28.80% รวม 6 เดือนแรกปีนี้ ติดลบ 15.24% คิดเป็น 240 จุด โดยนักลงทุนต่างชาติทิ้งบอมม์ 216,645.84 ล้านบาท
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจในไตรมาส 2/63 คาดว่าจะหดตัวมากกว่า -10% แต่ไม่เกิน -20% และเริ่มฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 โดยรวมคงคาดการณ์ทั้งปีหดตัว -8.1%
“ในเดือน พ.ค.น่าจะอยู่ในจุดต่ำสุดแล้ว เริ่มเห็นสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในเดือน มิ.ย.คาดว่าไตรมาส 3 จะฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวแรงพอสมควร ขณะที่มาตรการคลายล็อกในประเทศไทย ทำให้คนเริ่มใช้จ่ายและการท่องเที่ยวเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น”นายดอนกล่าว
สำหรับความเสี่ยงในช่วงครึ่งปีหลัง ยังต้องติดตามสถานการณ์ ทุกประเทศมองตรงกันว่าเศรษฐกิจโลกจะผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 หลังจากนั้นจะเริ่มฟื้นตัว ถ้าไม่มีเหตุการร้ายแรงเกิดขึ้น เช่น การระบาดของโควิดรอบ 2 ทำให้ต้องปิดประเทศหลายที่ หรือกรณีความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ และเสถียรภาพระบบการเงินของโลกที่ในหลายประเทศพบการผิดนัดชำระหนี้ในกลุ่มตราสารหนี้ภาคเอกชน
ส่วนการแข็งค่าของเงินบาทนั้น ธปท.ยอมรับว่าเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ที่มีทิศทางปรับขึ้นจะไม่กระทบกับเสถียรภาพธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากระบบสถาบันการเงินของไทยมีความเข้มแข็งลำดับต้นๆ ของโลก สามารถรองรับการหดตัวทางเศรษฐกิจได้ รวมทั้ง ธปท.ก็มีแนวนโยบายดูแลปรับโครงสร้างลูกหนี้อย่างใกล้ชิด
ทางด้านภาพรวมของตลาดหุ้นในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ดัชนีดิ่งลงไปต่ำสุดในเดือนมี.ค. ระดับ 1,024 จุด กดหุ้นหลายตัวนิวโลว์ แต่เวลาผ่านมาเพียง 3 เดือนเท่านั้น หลายตัวดีดกลับขึ้นแรงทำนิวไฮในรอบ 1 ปีหรือ 52 สัปดาห์ เช่น CBG,TQM,RBF,TASCO ทั้งนี้วันที่ 30 มิ.ย. เริ่มเห็นแรงขายทำกำไร ทำให้ไม่สามารถปิดที่จุดสูงสุด นอกจากนี้ราคายังสูงกว่าราคากลางที่นักวิเคราะห์ให้เป้าหมายในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
นายสุรนาถ กิตติรัตนเดช ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) เปิดเผยว่า บริษัทฯยังคงเป้ารายได้ปี 63 เติบโต 10-12% จากปี 62 มีรายได้อยู่ที่ 2,864 ล้านบาท จากลูกค้าส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจอาหาร และยอดขายเพิ่มขึ้นตามออร์เดอร์จากลูกค้าที่เพิ่มขึ้น
ส่วนโรงงานผลิตเกล็ตขนมปังในประเทศเวียดนามเลื่อนเปิดจากเดือนเม.ย. ปัจจุบันพร้อมดำเนินการแล้ว แต่ยังต้องรอสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 คลี่คลายก่อน รอทางรัฐบาลเวียดนาม ประกาศในการปลดล็อคต่างๆ คาดว่าไตรมาส 3 จะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้
ส่วนโรงงานผลิตเกล็ดขนมปังที่ประเทศอินโดนีเซีย บริษัทฯจะพยายามเร่งกำลังการผลิตให้เพิ่มขึ้น เพื่อลดส่วนที่ต้องนำเข้าจากประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันนำเข้าจากไทยประมาณ 3-4 ตู้คอนเทนเนอร์
นอกจากนี้แผนการลงทุนในการเข้าซื้อกิจการ ยังมองหาโอกาสที่ดีในการเติบโตในอนคต ที่ช่วยส่งเสริมการตลาด การขนส่ง และอื่นๆ โดยยังไม่พิจารถึงงบลงทุน แต่พร้อมจะเปิดกว้างทุกธุรกิจ ที่เสริมกับทางบริษัทได้มากขึ้น
ด้านราคาหุ้น RBF นับตั้งแต่ต้นปี 63 เพิ่มขึ้นมา 3.95 บาท หรือ +89.77%
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2563 ปริมาณการจราจรทางอากาศของ AOT ในภาพรวมรอบ 8 เดือน (ต.ค.62-พ.ค.63) มีเที่ยวบิน 425,900 เที่ยวบิน ลดลง 29.80% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 229,400 เที่ยวบิน ลดลง 30.20% และเที่ยวบินภายในประเทศ 196,500 เที่ยวบิน ลดลง 29.33% ขณะที่ผู้โดยสาร 64.20 ล้านคน ลดลง 33.94% แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 37.24 ล้านคน ลดลง 34.72% และผู้โดยสารภายในประเทศ 26.96 ล้านคน ลดลง 32.83%
ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 63 (ต.ค.-ธ.ค.62) ปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่หลังล็อกดาวน์ห้ามเครื่องบินขนส่งคนโดยสารทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ส่งผลให้มีจำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.-31 พ.ค.63 เที่ยวบินลดลงกว่า 55.28% และผู้โดยสารลดลงกว่า 66.32% ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศ ในภาพรวมรอบ 8 เดือนของปีงบประมาณ 63 ก็ลดลงเช่นกัน คือ มีสินค้าและไปรษณียภัณฑ์จำนวน 825,665 ตัน ลดลง 17.61% ไม่มากเท่าการขนส่งผู้โดยสาร เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินขนส่งสินค้าเป็นหลัก
สำหรับผลประกอบการในช่วง 6 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.62-31 มี.ค.63 (งบการเงินเฉพาะบริษัท) AOT มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ 27,476.80 ล้านบาท และรายได้อื่น 1,421.31 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 28,898.11 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่าย 15,173.34 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 2,760.98 ล้านบาท จึงทำให้มีกำไรสำหรับงวดดังกล่าว 10,963.80 ล้านบาท
ส่วนภาวะตลาดหุ้นวันที่ 30 มิ.ย. หุ้นไทยปรับตัวขึ้นแรงตามตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาดี และ PMI ของประเทศจีนออกมาดีกว่าที่คาดไว้ ส่วนไทยได้รับอานิสงส์การผ่อนคลายล็อกดาวน์เฟส 5 และครม.อนุมัติงบในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่ยังคงต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึง 31 ก.ค.นี้
อย่างไรก็ตามตลาดยังมีความผันผวน จากความเสี่ยงการระบาดโควิด-19 รอบสองในหลายประเทศ รวมถึงสงครามการค้า ปัญหาทางการเมือง และการว่างงาน