KTAM Focus : 2C ลุยครึ่งปีหลัง : Credit & China

โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย

กลายเป็นส่วนหนึ่งของ New Normal ไปแล้ว สำหรับการที่ ธนาคารกลาง เข้ามาคุมเข้มการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นของบรรดาแบงก์พาณิชย์ ผลทดสอบภาวะวิกฤตประจำปี (stress test) เผยให้เห็นความอ่อนไหวของหลายธนาคารในสหรัฐ เฟดจึงได้ออกระเบียบใหม่ “จำกัดการจ่ายปันผลและซื้อหุ้นคืน” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายล่าสุดของธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึงแบงก์ชาติบ้านเราด้วย

การตัดสินใจซื้อหุ้นเพียงเพราะอยากได้ปันผล ไม่น่าจะเหมาะสมสักเท่าไรแล้วภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจตลอดจนแนวโน้มผลประกอบการบริษัท อาจเปลี่ยนไปมาก (และถาวร) หลังวิกฤตโควิด

หุ้นปันผล รวมถึงสินทรัพย์ที่นักลงทุนส่วนใหญ่เคยรับรู้กันว่ามี dividend yield สูงในอดีต กำลังเผชิญความไม่แน่นอนโดยเฉพาะเรื่องกระแสรายได้ในอนาคต ซึ่งอาจกระทบความสามารถจ่ายปันผลในระยะยาว ดังนั้น การตัดสินใจลงทุนหุ้นยุคนี้ ควรพิจารณาปัจจัยพื้นฐานให้รอบด้าน อาทิ ความสามารถในการปรับตัวของบริษัท ซึ่งส่งผลต่อโอกาสรอดของธุรกิจ ตลอดจนศักยภาพการเติบโตของกำไรในอนาคต มากกว่าที่จะสนใจแค่ปันผลในอดีตเท่านั้น

เงินลงทุนที่มุ่งแสวงหาผลตอบแทนในรูป “รายได้ประจำ” (income) หรือ “ยีลด์” อาจพิจารณาลงทุนในสินทรัพย์กลุ่มตราสารหนี้ (fixed income) เพราะสามารถสร้างกระแสรายได้ที่มีความมั่นคงสูงกว่าหุ้นหรืออสังหาริมทรัพย์ แนวคิดนี้เองนำไปสู่การเลือกเครื่องมือชิ้นแรกสำหรับใช้ตะลุยสนามลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง

C ตัวแรก: (Global) Credit นอกจากเป็นตลาดหลักที่ใช้แสวงหา “ยีลด์” อันเป็นของมีค่ายิ่งในยุค new normal แล้วยังเปิดโอกาสรับกำไรส่วนต่างราคา (capital gains) เมื่อ credit spreads ของหุ้นกู้ปรับตัวแคบลงในสภาวะที่นักลงทุนกล้าเสี่ยง (risk on) ปัจจุบันตลาดเครดิตอยู่ใน sweet spot เป็นสินทรัพย์ที่ “คุ้มค่าเงินลงทุน” มากสุดในมุมมองของเรา เนื่องจาก spreads ยังกว้างกว่าช่วงก่อนวิกฤตแปลว่าราคาไม่แพง อีกทั้งมี “เจ้าภาพ” คือธนาคารกลางใหญ่ๆของโลกนำโดย Fed และ ECB ดูแลอย่างดีเป็นพิเศษผ่านโครงการซื้อหุ้นกู้เอกชน ช่วยจำกัดความเสี่ยงขาลง (downside risks) ตัวอย่างกองทุนประเภทนี้เช่น KT-GCINCOME กองทุนหลักมุ่งสร้างรายได้ (income) และการเติบโตของเงินทุน สามารถเลือกลงทุนได้อย่างกว้างขวาง ในตลาดเครดิตทั่วโลก ทั้งตราสาร investment grade และ high yield โดยมีการกระจายความเสี่ยงที่ดี กองทุนนี้มีให้เลือก 2 ชนิด KT-GCINCOME-A (สะสมมูลค่า) และ KT-GCINCOME-R (ขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ)

หุ้นสหรัฐเริ่มแสดงอาการป่วย ราวกับผู้ติดเชื้อที่ไวรัสเพิ่งพ้นระยะฟักตัวโดย 3 ดัชนีหลักร่วงลงจนได้ในสัปดาห์ล่าสุดหลัง เท็กซัส ฟลอริดา และอีก 9 รัฐ ตัดสินใจเบรกกระบวนการเปิดเมือง/คลายมาตรการคุมโรค (reopening) หลังจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดพุ่งพรวดจนห้อง ICU บางรัฐจวนเจียนจะเต็ม สร้างความวิตกกังวลว่า ถ้าหากเดินหน้าเปิดเมืองและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติกันต่อไป ระบบสาธารณสุขอาจรับมือไม่ไหวทำให้สถานการณ์บานปลายจนยากจะควบคุม!

ตลาดหุ้นสหรัฐเผชิญความเสี่ยงสูงขึ้น มิใช่เพียงเพราะยอดผู้ติดเชื้อสูงลิ่วเท่านั้น แต่เนื่องจากความร้อนแรงของราคาหุ้น หลายเดือนที่ผ่านมาดัชนีพุ่งเกินปัจจัยพื้นฐานไปไกล และดูเหมือนขาขึ้นรอบนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อศรัทธาในเฟดเป็นสำคัญ คือหวังว่าธนาคารกลางอันดับหนึ่งของโลก “พ่อทุกสถาบัน” พร้อมพิมพ์เงินเข้าไปช่วยซื้อสินทรัพย์ทุกอย่างหากราคาร่วงลง เมื่อระดับอะดรีนาลีนของบรรดานักลงทุนที่ “กลัวตกรถ” พุ่งสูงจน overheat ตลาดจะเลี้ยงตัวต่อไปได้คงต้องอาศัยปัจจัยบวกใหม่ๆเข้ามาไล่ราคาไปเรื่อยๆ ถ้าหมดมุขและดัชนีหยุดทะยานขึ้นเมื่อใด ใครจะอยากถือหุ้นสหรัฐเพื่อ “ลงทุน” ณ ราคานี้?

ขนาดงบดุลของเฟด ซึ่งเปรียบเสมือน “ปั๊มน้ำ” ฉีดสภาพคล่องหนุนราคาหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยง หดตัว 2 สัปดาห์ติด!

เรายังระมัดระวังความเสี่ยงตลาด และเห็นควรให้คงสภาพคล่องรวมถึงสัดส่วนการลงทุนตราสารหนี้ในระดับสูงต่อไป แต่เริ่มเห็นโอกาสทยอยสะสมหุ้นบางตลาด ที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งและยังไม่ร้อนแรงเกินไป

C ตัวที่สอง: China จีนพิสูจน์แล้วว่าควบคุมโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจจึงมีโอกาสฟื้นตัวเร็วและน่าจะทนทานกว่าที่อื่นๆ จีนผ่านกระบวนการปฏิรูปและปรับตัวท่ามกลางหลายวิกฤต อาทิ เศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรง (hard landing) สงครามการค้า และ โควิด ขณะปัญหาหนี้ภาคเอกชนก็ดูเจือจางลงในเชิงเปรียบเทียบ หลังประเทศอื่นๆก่อหนี้เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ส่วนประเด็นรัฐบาลทรัมป์เตรียมขับหุ้นจีนพ้นตลาดสหรัฐ ก็แก้ไม่ยากโดยหันไประดมทุนและจดทะเบียนซื้อขายในฮ่องกง

IMF เผยประมาณการ GDP ในรายงาน World Economic Outlook เดือน มิ.ย. คาดว่า จีนน่าจะขยายตัวได้ +1.0% ในปีนี้ เทียบกับ สหรัฐ -8.0%, ยูโรโซน -10.2%, ญี่ปุ่น -5.8%, ตลาดเกิดใหม่ -3.0% และทั้งโลก -4.9% ตอกย้ำว่าเศรษฐกิจจีนเป็น “จุดสว่าง” หรือ Bright Spot ทั้งในแง่ความแข็งแกร่ง รวมถึงโอกาสเติบโต ขณะตลาดหุ้นจีนก็มิได้ร้อนแรงเกินไป ดังนั้นกองทุน KT-CHINA จึงมีโอกาสและความเสี่ยงในระดับที่ “คุ้มค่าเงินลงทุน” ในมุมมองของเรา โดยกองทุนหลักมีสไตล์บริหารยืดหยุ่นใน 4 ด้านคือ คุณภาพ (Quality) การเติบโต (Growth) มูลค่า (Value) และ ขนาด (Size) แสวงหาโอกาสลงทุนจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและปฏิรูป ทั้งในกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ (new economy) และเก่า (old economy) ของจีน

คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน