HoonSmart.com>> บลจ.วี มองธุรกิจการศึกษาแนวโน้มเติบโตน่าสนใจ เปลี่ยนเข้าสู่ระบบเทคโนโลยีดิจิตอล เปิดขายกองทุนเปิด วี โกลบอล เอ็ดดูเคชั่น อิควิตี้ (WE-GEDUCATION) ตั้งแต่ 25 มิ.ย. – 1 ก.ค. 2563 เน้นลงทุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มด้านการศึกษา (EDTECH) ทั่วโลก ผ่านกองทุนชั้นนำของโลก Credit Suisse Asset Management ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการคัดเลือกหุ้นในหุ้นกลุ่ม EDTECH
นายอิศรา พุฒตาลศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วี จำกัด เปิดเผยว่า บลจ.วี เปิดเสนอขายครั้งแรก IPO กองทุนเปิด วี โกลบอล เอ็ดดูเคชั่น อิควิตี้ (WE-GEDUCATION) ระหว่างวันที่ 25 มิ.ย. – 1 ก.ค. 2563 เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มด้านการศึกษา (EDTECH) ทั่วโลก ผ่านกองทุนหลัก Credit Suisse Edutainment Equity Fund เป็นหลัก รวมถึงอาจกระจายลงทุนในกองทุนหรือหลักทรัพย์อื่นที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตของการศึกษาในอนาคตอีกประมาณ 20% ของพอร์ตการลงทุน โดยขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้จัดการกองทุน
บลจ.วีมองว่า ปัจจุบันธุรกิจด้านการศึกษากำลังมีการติบโตอย่างต่อเนื่องและตลาดของธุรกิจการศึกษาเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ทั้งในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การลงทุนธุรกิจการศึกษาจึงเติบโตจากความต้องการและการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐ เอกชน และบุคคลในการเข้าถึงการศึกษาที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่จากความจำกัดของการเข้าถึงการศึกษาทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาแพงขึ้นโดยค่าใช้จ่ายเติบโตในอัตรากว่า 1,125% ในช่วงระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงที่สุดแม้เทียบกับภาคอื่น เช่น การรักษาพยาบาล อาหารหรือเงินเฟ้อ
ปัจจุบันมูลค่าทางการตลาดสำหรับการศึกษาทั่วโลก อยู่ที่ประมาณ 5 ล้านล้านเหรียญฯ แต่มีสัดส่วนการศึกษาในรูปแบบดิจิตทัลแพลตฟอร์มเพียง 2% เท่านั้น ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ไขข้อจำกัดรูปแบบการศึกษาปัจจุบันทั้งด้านค่าใช้จ่าย และความขาดแคลนทรัพยากร ทำให้คนเข้าสู่การศึกษาในรูปแบบออนไลน์ที่มีราคาถูกลง สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาไม่จำกัดระยะเวลาเรียน รวมถึงมีรูปแบบเนื้อหาที่สามารถเรียนรู้จดจำได้ง่าย และปรับเปลี่ยนตามความต้องการของผู้เรียนได้ดีกว่าการศึกษารูปแบบเดิม ทำให้ตลาดการศึกษาบนดิจิตัลแพลตฟอร์มมีการเติบโตต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันจากข้อมูลพบว่าประชากรกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มหลักของตลาดการศึกษาให้ความสนใจและจ่ายเงินเพื่อเข้าใช้แพลตฟอร์มการศึกษาสูงกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้คาดการณ์ว่าตลาดการศึกษายุคดิจิทัลจะเติบโตในอัตรา 24% ต่อปี และจะมีมูลค่าประมาณ 423 พันล้านบาทใน 3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านนวัตกรรมการศึกษายุคใหม่ (Innovative Services) การพัฒนาหลักสูตรเนื้อหาในรูปแบบดิจิทัล (Digital Content) และกลุ่มที่เกี่ยวกับเครือข่ายเครื่องมืออุปกรณ์ (Systems and tools)
สำหรับกองทุน Credit Suisse Edutainment Equity Fund ใช้กลยุทธ์การคัดเลือกหุ้นกลุ่ม EDTECH จากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทที่เป็นเจ้าของธุรกิจด้านวัตกรรม ที่มีการเติบโตที่เร็ว มีอำนาจในการกำหนดราคาและมีความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจรวมถึงมีกระแสเงินที่ดี โดยจะลงทุนระยะยาวประมาณ 7-10 ปี
ตัวอย่างหุ้นในกลุ่ม EDTECH ที่กองทุนลงทุน เช่น 1. Afya Educational บริษัทผู้นำด้านแพลตฟอร์มการศึกษาทางการแพทย์ เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในภูมิภาคที่ห่างไกล 2. Chegg ผู้ให้บริการห้องสมุดออนไลน์ ที่มีชื่อเสียงในการวิเคราะห์ความต้องการของนักเรียน เพื่อเชื่อมต่อการเรียนรู้และติดตามจนกระทั่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัย รวมไปถึงบริการช่วยจัดหางาน และ 3. CAE บริษัทผู้นำ ในการผลิตแบบเรียนจำลองทางด้านการบิน , ด้านการป้องกันและรักษาความปลอดภัย และด้านการแพทย์
ด้วยกลยุทธ์การลงทุนของ Credit Suisse Asset Management ส่งผลให้กองทุนหลักมีผลตอบแทนที่น่าสนใจ ณ วันที่ 29 พ.ค. 2563 กองทุนหลักให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 เดือนที่ 8.10% ย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ -1.38% และผลตอบแทนตั้งแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่ 12.46% เทียบกับดัชนี MSCI World ESG Leader อยู่ที่ 5.04% , 1.22% และ 0.91% ตามลำดับ
“ด้วยการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเข้าสู่ในเรื่องการศึกษาที่มากขึ้น ทำให้ธุรกิจดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างสูงในระยะยาว อีกทั้งระดับราคาหุ้นของกลุ่มนี้ที่ยังไม่สูงในปัจจุบัน กองทุน WE-GEDUCATION จึงเหมาะสำหรับการจัดพอร์ตลงทุนในหุ้นต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่ดี ควบคู่ไปกับการเรียนรู้และการเติบโตก้าวหน้าในอาชีพและคุณภาพชีวิต” นายอิศรา กล่าว
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมพร้อมรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ บบลจ.วี จำกัด หรือตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุนของ บลจ.วี ได้แก่ บล.เคทีบี (ประเทศไทย), บล.หยวนต้า , บล.โนมูระ, บล.เคจีไอ, บล.เอเชียเวลท์, บล.ฟิลลิป, บล.กรุงศรี, บล.เอสบีไอ ไทย ออนไลน์, บลน.ฟินโนมินา, บลน. เวลท์ รีพับบลิค บลน.โรโบเวลท์ และ บลน.เวลท์เมจิก