หุ้นแบงก์ดิ่ง 8.5 หมื่นลบ.ยังไม่ซื้อ ธปท.ยันหนี้เสียไม่รุนแรงถึงต้องเพิ่มทุน

HoonSmart.com>>หุ้นแบงก์น่วมตามคาด มูลค่าทั้งระบบหายไป 85,144 ล้านบาท พุ่งเป้า BBL-SCB-KBANK  กังวลผลกระทบคำสั่งงดปันผลระหว่างกาลปีนี้ NPLs บาน ธปท.สั่งให้ส่งแผนบริหารจัดการเงินกองทุน 1-3 ปีภายในสิ้นเดือนก.ค. เรื่องเพิ่มทุน ยังเร็วเกินไปที่จะมีคำตอบ หนี้เสียไม่มากถึง 50% บลจ.กสิกรไทยมองกระทบช่วงสั้น ดีระยะยาว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินลดดอกเบี้ยรายย่อย  กระทบรายได้ 1,000-2,000 ล้านบาท ประมาณ 0.8-1.5% ยันเงินกองทุนแกร่ง 18.9% สำรอง NPls สูงถึง 140% บล.เอเซียพลัสยังไม่ให้ซื้อ เชียร์ 7 หุ้นปันผล  ผลตอบแทนเกิน 6-4% BTSGIF-DIF-TVO-DCC-AP-TTW-INTUCH

วันที่ 22 มิ.ย. 2563 ตามคาดนักลงทุนถล่มหุ้นแบงก์ร่วงยกแผง ตื่นธปท.สั่งแบงก์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลปีนี้ กดดันดัชนีกลุ่มแบงก์ ปิดที่ 284.82 จุด -19.39 จุด-6.37% มูลค่าการซื้อขาย 17,431.87 ล้านบาท ดัชนีหุ้นปิดที่ระดับ 1,352.18 จุด -18.64 จุด หรือ -1.36% มูลค่าการซื้อขาย 65,772.37 ล้านบาท ส่วนดัชนีกลุ่มไฟแนนซ์ ปิดที่ 3,751.69 จุด -105.15 จุด -2.73% จากแรงทิ้งของสถาบันไทยถึง 3,695 ล้านบาท ตามด้วยแรงขายของต่างชาติ 3,106 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนในประเทศซื้อ 6,770 ล้านบาท

ราคาหุ้นแบงก์ที่ทรุดลง ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป)ของทั้งหมด 11 แห่ง ทรุดหนัก 85,144.29 ล้านบาท โดยธนาคารกรุงเทพ (BBl) ราคาดิ่งลงแรงที่สุด 9.09% มาร์เก็ตแคปหายไปกว่า 20,042 ล้านบาท ตามด้วยธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) ราคาหุ้นลดลง 7.44% มูลค่าร่วงลง 19,524 ล้านบาท และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ราคาติดลบ 6.79% มูลค่าลดลง 15,556 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 55,123 ล้านบาท

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้สั่งการให้ธนาคารพาณิชย์ส่งแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนในระยะ 1-3 ปีข้างหน้า ภายในสิ้นเดือนก.ค.นี้ ปัจจุบันธนาคารมีระดับเงินกองทุน 18.7% เชื่อว่าจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้ คงไม่ถึงกับจะต้องเพิ่มทุนในอนาคต เชื่อว่ามาตรการช่วยเหลือลูกค้า คงไม่ทำให้เกิดหนี้เสียสูงถึง 50% หรือหากเกิดเหตุรุนแรง

อย่างไรก็ดี แม้ว่ามาตรฐานระดับเงินกองทุนของสถาบันการเงินจะต้องไม่ต่ำกว่า 8.5% แต่ธปท.จะไม่ปล่อยให้เงินกองทุนอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป หากลงมาเหลืออยู่ที่ระดับ 11.5-12.5% จะต้องมีการหารือร่วมกัน เพื่อหาแนวทางบริหารจัดการเงินกองทุน แต่หากจะเพิ่มระดับเงินกองทุนก็มีหลายแนวทาง เช่น การออกหุ้นกู้ การงดการจ่ายปันผลระหว่างกาล ทำให้มีกำไรสะสมมากขึ้นที่จะไปเพิ่มในเงินกองทุนได้

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ว่า การลดดอกเบี้ยให้กับลูกค้ารายย่อย คาดว่าธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบจะได้รับผลกระทบ 1,000-2,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 0.8-1.5% ของรายได้ดอกเบี้ยระบบแบงก์ ในไตรมาส ที่ 3/2563 แม้จะเผชิญโจทย์ท้าทายต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งมีการวางกลยุทธ์ ปรับแผนการทำธุรกิจอย่างรอบคอบ มีการบริหารความเสี่ยงที่ดี ประกอบกับมีฐานเงินกองทุนและเงินสำรองในระดับสูง โดย ณ สิ้นเดือนเม.ย. 2563 ธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,616,162 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 18.9% นับว่ามีความเข้มแข็งกว่าเกณฑ์เงินกองทุนที่ต้องดำรงขั้นต่ำของธปท.ที่ 11.0% ขณะที่สัดส่วนสำรองที่มีอยู่ต่อ NPLs อยู่ที่ 140% ซึ่งเพียงที่จะรองรับความเสี่ยงต่างๆ ในระยะที่เหลือของปีได้

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล. เอเซียพลัส(ASP) กล่าวว่า ยังคงแนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นแบงก์ ที่ผ่านมาน่าสนใจเพราะมูลค่าหุ้นถูกและมีเงินปันผลตอบแทนประมาณ  5-6% ต่อปี แต่เมื่อไม่มีเงินปันผลระหว่างกาล ความน่าสนใจน้อยลง สำหรับผู้ที่มีหุ้นอยู่ ราคานี้ไม่ขายแล้ว

“หุ้นแบงก์ เสน่ห์น้อยลง ปกติทั้งระบบจะมีกำไรประมาณ 1.8 แสนล้านบาทต่อปี  ธุรกิจวิ่งตามภาวะเศรษฐกิจ เราได้ปรับลดประมาณการปีนี้ไปมากแล้ว คำสั่งธปท.ครั้งนี้ คงจะไม่ทำให้ต้องปรับประมาณการใหม่ แม้ว่ามีสัญญาณความกังวลเรื่องหนี้เสีย ซึ่งยังไม่รู้ว่า เมื่อยาชาหมดฤทธิ์ มาตรการการผ่อนผันการพักหนี้จบลงในเดือนมิ.ย. และก.ย.จะเป็นอย่างไร จะต้องติดตามคุณภาพสินทรัพย์ให้ดี ไม่รู้ว่าหนี้จะตกชั้นเท่าไร เริ่มเห็นเค้าลาง จากการขยายเวลาชำระหนี้ “นายเทิดศักดิ์กล่าว

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนปันผลสูงแทนหุ้นแบงก์ แนะนำให้ซื้อกองทุน BTSGIF คาดอัตราผลตอบแทน 6-7% ต่อปี แม้ว่าในช่วงนี้ได้รับผลกระทบจากการปรับลดมูลค่า  นอกจากนี้ DIF ก็น่าสนใจ ผลตบแทน  6.50% TVO 6.49% DCC 5.6% AP 5.4% TTW 4.37 และ INTUCH 3.89%

น.ส.ธิดาศิริ ศรีสมิต, CFA, รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย   มองว่ามาตรการของธปท.อาจกดดันตลาดหุ้นในระยะสั้น โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน แต่ในระยะยาวจะเป็นผลดีมากกว่า  เนื่องจากจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ มีความสามารถในการรับมือกับความไม่แน่นอนและแรงกระแทกทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงถัดไปได้ ซึ่งในทางกลับกันหากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปได้ดีอย่างต่อเนื่องและไม่มีการระบาดของโควิด-19 รอบสอง จะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความสามารถในการปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น

“ ปกติแบงก์จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไม่มากนักประมาณ 20-30% ของเงินปันผลจ่ายทั้งปี และบางธนาคารก็ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล ทำให้การปรับลดของการคาดการณ์อัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Yield) อาจไม่มากเท่าที่คาด ในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีระดับเงินกองทุนอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง เมื่อจัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนสำหรับระยะเวลา 1-3 ปีข้างหน้าแล้วเสร็จด้วยดี ธนาคารพาณิชย์น่าจะกลับมาจ่ายเงินปันผลประจำปีได้ในปีหน้า ประกอบกับมูลค่าหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ และเป็นระดับที่เริ่มน่าสนใจสำหรับการลงทุนในระยะยาว” น.ส.ธิดาศิริกล่าว

น.ส.ธิดาศิริ กล่าวต่อไปว่า คำแนะนำสำหรับผู้ลงทุนที่สามารถรับความผันผวนระยะสั้นได้ ยังคงสามารถถือครองการลงทุนต่อไปได้เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนในระยะยาว โดยมองว่าตลาดหุ้นโดยรวมโดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงินน่าจะได้รับผลกระทบในเชิงลบในระยะสั้น ส่วนผู้ที่รับความผันผวนไม่ได้ แนะนำให้รอดูสถานการณ์เพิ่มเติม ทั้งนี้ต้องจับตามองพัฒนาการของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการกลับมาระบาดของโควิด-19 รอบสอง

บลจ. กสิกรไทยยังคงคาดการณ์เป้าหมายดัชนีหุ้นในปีนี้ที่ระดับ 1,350 จุด และมีโอกาสที่จะปรับขึ้นแตะระดับ 1,400 จุด หากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น และส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลังและต่อเนื่องไปถึงปีหน้า โดยแม้ระดับราคาหุ้นค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต แต่ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ และการอัดฉีดเงินของธนาคารกลางเข้าสู่ระบบทั่วโลก ส่งผลให้สภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังคงมีความน่าสนใจในระยะยาว