HoonSmart.com>>ทีเอ็มบีและธนชาต ผนึกกำลังลูกค้าองค์กรใหญ่ “กลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ กลุ่มปตท.น้ำมันและการค้าปลีก กลุ่มมิตรผล และเอสซีจี” ยึดหลักซัพพลายเชน โซลูชัน สนับสนุนและช่วยเหลือคู่ค้าในยุค New Normal ตอกย้ำเป้าหมายการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้แก่ลูกค้าทุกกลุ่ม
นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจจำนวนมากประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย หนี้ภาคครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยมี 6,662 บริษัท คิดเป็นประมาณ 58% ของสัดส่วนรายได้ต่อ GDP ในประเทศ ขณะที่ธุรกิจ SME มีผู้ประกอบการจำนวนมากกว่า 3 ล้านราย และมีการจ้างงานสูงถึง 82% ของการจ้างงานทั่วประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการ SME ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อการมีงานทำและรายได้ของครัวเรือนจำนวนมาก การเร่งให้ความช่วยเหลือ SME จึงเป็นหนึ่งในหน้าที่หลักลำดับแรกของธนาคาร
ทางธนาคารได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบมาโดยตลอด ตั้งแต่ไตรมาสแรกที่เกิดวิกฤตโควิด-19 โดยความช่วยเหลือจะมี 2 รูปแบบ
1. มาตรการช่วยเหลือภายใต้โปรแกรมซัพพลายเชน
ทีเอ็มบีและธนชาต ในฐานะผู้นำแนวคิด Make REAL Change เชื่อว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะเป็นไปได้อย่างยั่งยืน บริษัททุกขนาดต้องเติบโตไปพร้อม ๆ กัน จึงให้ความสำคัญกับซัพพลายเชน โซลูชัน มากว่า 10 ปี ทุกวันนี้มีพันธมิตรรายใหญ่ที่อยู่ภายใต้โปรแกรมซัพพลายเชน 100 ราย ซึ่งมีคู่ค้าธุรกิจ SME อีก จำนวน 1,200 ราย ด้วยเหตุนี้ ธนาคารจึงนำหลักการซัพพลายเชนมาช่วยเหลือ SME โดยชวนพันธมิตรองค์กรรายใหญ่ให้มาช่วยเหลือคู่ค้ารายเล็ก และเป็นเรื่องน่ายินดีที่พันธมิตรองค์กรรายใหญ่ได้ตอบรับสนับสนุนแนวคิดของธนาคาร
ธนาคารได้ดำเนินการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มธุรกิจในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภค พลังงาน วัสดุก่อสร้าง และอุตสาหกรรมด้านการเกษตร ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือคู่ค้า SME ของกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ฯ กลุ่ม ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก ผ่าน 2 มาตรการ มาตรการแรก เป็นการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยของคู่ค้า หรือ ดีลเลอร์ SME กว่า 400-500 ราย มูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมและสามารถประคองธุรกิจได้ในสถานการณ์เช่นนี้ ส่วนมาตรการที่สองคือ การให้เงินทุนหมุนเวียน (Soft Loan) เพิ่มเติมกับดีลเลอร์กว่า 60 ราย วงเงิน 150 ล้านบาท เพื่อให้คู่ค้า SME มีเงินทุนหมุนเวียนในการจ้างพนักงาน จ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ ค่าเช่า และอื่น ๆ รวมถึงเอสซีจี ที่ทางธนาคารได้ร่วมมือและพร้อมให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ดีลเลอร์ด้วยดีมาโดยตลอด เป็นต้น
นอกจากนี้ ธนาคารได้ร่วมมือกับกลุ่มมิตรผล ในการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรภายใต้โครงการซัพพลายเชน โซลูชันที่ดำเนินการร่วมกัน โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินส่งเสริมการปลูกอ้อย หรือที่เรียกว่า เกี๊ยวเงินอัตโนมัติ ซึ่งช่วยลดต้นทุนทางการเงินของเกษตรกรในกลุ่มมิตรผล เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนนำไปซื้อปัจจัยการผลิตมาทำการเพาะปลูกต่อไป โดยปัจจุบันมีเกษตรกรภายใต้โครงการฯ ทั่วประเทศกว่าหลายพันราย
2. มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME โดยตรง
สำหรับโปรแกรมที่ธนาคารเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME โดยตรง มีหลากหลาย ได้แก่ 1. โปรแกรมการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน 2. การให้เงินทุนหมุนเวียน (Soft Loan) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและรักษาการจ้างงานแก่ลูกค้าของธนาคาร 3. มอบโปรโมชันพิเศษ ฟรีประกันโควิด-19 ให้แก่พนักงาน เมื่อผู้ประกอบการ SME สมัครบริการ Smart Payroll จ่ายเงินเดือนพนักงานผ่านออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการดูแลพนักงานในสถานการณ์เช่นนี้ และ 4. การจัด SME Knowledge Program ช่วยแนะนำ ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ SME ของธนาคารแบบไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการตั้งรับเชิงรุก ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจภายใต้ทิศทางเศรษฐกิจใหม่
“เราเชื่อมั่นว่าการจะก้าวข้ามสถานการณ์ที่ท้าทายนี้ ทุกบริษัทไม่ว่าจะธุรกิจขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กต้องเดินไปพร้อมกัน ซึ่งการช่วยเหลือผ่านซัพพลายเชน โซลูชัน จากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่สู่รายเล็ก จะทำให้ SME สามารถตั้งรับต่อสถานการณ์และปรับกลยุทธ์เชิงรุกให้ฟื้นตัวโดยเร็ว ซึ่งเป็นการช่วยทั้งระบบที่ได้ผลอย่างรวดเร็วและยั่งยืน สร้างความแข็งแกร่งให้ทั้งอุตสาหกรรม ส่งผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในเร็ววัน โดยธนาคารพร้อมสนับสนุนบริษัทคู่ค้าและพันธมิตร เพื่อการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป” นายเสนธิป กล่าวทิ้งท้าย