เมย์แบงก์ฯสั่งขาย KBANK หั่นราคาหุ้นเหลือ 80 บาท

HoonSmart.com>>บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ ลดเป้าหุ้นธนาคารกสิกรไทยลดพรวดเดียวจาก 100 บาท  ให้ซื้อขายบน P/BV ต่ำกว่า 0.50 เท่า ปรับลดเป้ากำไรลง 40% ในช่วงปี 63-65 จากความกังวลสินเชื่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวสูงถึง 4 แสนล้านบาท ประมาณ 20% ของพอร์ต จะกลายเป็น NPLs ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ 1.07 หมื่นล้านบาท/ปี  รายได้ค่าธรรมเนียม-ดอกเบี้ยลงด้วย

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) แนะนำ “ขาย” หุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) หลังปรับลดราคาเป้าหมายจาก 100 บาท เหลือ 80 บาท/หุ้น ซื้อขายบน (P/BV ปี 2563 ที่ 0.46 เท่า และ ROE 7.6%) เนื่องจากผลประกอบการที่อ่อนแอ เชื่อว่าเป้าหมาย P/BV ที่ระดับต่ำกว่า 0.5 เท่านั้นถือว่าเหมาะสม เนื่องจาก ROE ของธนาคารจะยังคงอยู่ต่ำกว่า 5.0% สำหรับปี 2563-2565

ทั้งนี้บล.เมย์แบงก์ฯคาดการณ์ผลประกอบการ ต่ำกว่าคาดการณ์ของ Bloomberg 41-46% คาดว่าตลาดจะปรับลดคาดการณ์กำไรหลัง KBANK ปรับเป้าหมายทางการเงินหลังประกาศผลประกอบการงวดไตรมาสที่ 2/2563ในเดือน ก.ค. นี้

สาเหตุที่ปรับลดราคาเป้าหมาย จากความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์ เนื่องจากสินเชื่อภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมีมูลค่า 4 แสนล้านบาท คิดเป็นประมาณ 20% ของสินเชื่อรวม ประเมินว่าผลประกอบการของ KBANK จะได้รับผลกระทบ 1.07 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565 บนสมมติฐานว่า 20% ของสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจะกลายเป็น NPLs และมีหลักประกัน 50% ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยแสดงให้เห็นว่ามูลค่าของเงินให้สินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้และสินเชื่อภายใต้การเลื่อนการชำระหนี้สูงถึง 6.7 ล้านล้านบาทในปลายเดือนพ.ค.ซึ่งเป็นประมาณ 1/3 ของสินเชื่อในระบบทั้งหมด

” เราปรับลดประมาณการกำไรปี 2563-2565 ลง 40% เพื่อสะท้อนการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมที่อ่อนแอและต้นทุนสินเชื่อที่สูงขึ้น แม้ว่าอัตราส่วน NPL น่าจะทรงตัวในช่วง 6 เดือนข้างหน้าตามมาตรการของ ธปท.แต่เราแนะนำให้นักลงทุนมองหลังจากนั้นเพื่อวัดความเสี่ยงคุณภาพสินทรัพย์  คาดว่าสัดส่วน NPL ของภาคธุรกิจจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในระยะเวลา 3 ปี หากไม่มีโครงการผ่อนปรนหนี้ ซึ่งสอดคล้องกับ CEO ของธนาคารกรุงไทยหรือ KTB ที่ระบุว่าอัตราส่วน NPL อาจเพิ่มขึ้นเป็น 7-9% (จาก 4.3% ในไตรมาส ไตรมาสแรก) หลังจากที่มาตรการผ่อนปรนของ ธปท.หมดอายุในปี 2565 ประเมินค่าใช้จ่ายเครดิตและอัตราส่วน NPL จะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 ปีนับจากนี้  จึงปรับสมมติฐานต้นทุนเครดิตเป็น 2.00-2.05% จาก 1.6-1.75% ในปี 2563-2565

นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM)เนื่องจากความไม่แน่นอนของรายได้และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม จึงเป็นเรื่องยากที่ KBANK จะขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น ประกันหรือกองทุนรวมให้กับลูกค้า คาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียมจะลดลง 20%  ในปีนี้ ส่วน NIM แม้ว่า KBANK จะสามารถลดต้นทุนทางการเงินได้เนื่องจากค่าธรรมเนียมในการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) และดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ลดลง แต่คาดว่า NIM ของ ธนาคารจะลดลง ในไตรมาส 2-4 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า  เนื่องจากผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงเหลือ 0.50% จาก 1.25% ณ สิ้นปี 2562

ด้านราคาหุ้น KBANK ร่วงลง ปิดที่ 97.25 บาท -2.50 บาทหรือ -2.51% มูลค่าการซื้อขายสูงถึง 1,720 ล้านบาท สำหรับการซื้อขายครึ่งเช้าวันที่ 18 มิ.ย. 2563