GPSC เพิ่มทุน 7.4 หมื่นล.ซื้อ “GLOW” ลุยโรงงานแบตฯหมื่นล้าน

GPSC กู้ระยะสั้น 1.42 แสนล้าน ซื้อหุ้น GLOW ก่อนออกหุ้นกู้ 6.85 หมื่นล้าน และเพิ่มทุน 7.4 หมื่นล้าน เพื่อปรับโครงสร้างหนี้และลดหนี้สินต่อทุนลงต่ำกว่า 1 เท่า “เติมชัย” สั่งตั้งทีมจัดโครงสร้างและบริหารทรัพย์สิน 2 บริษัท พร้อมเดินหน้าลงทุนโรงงานแบตฯเฟส 2 เพิ่มกำลังผลิตเป็น 2 GWh

นายเติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า วันที่ 24 ส.ค.นี้ จะมีการเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้น GPSC ให้พิจารณาอนุมัติการเข้าซื้อกิจการบริษัท โกลว์ พลังงาน (GLOW) และอนุมัติวงเงินกู้เงินระยะสั้น (Bridge Loan) สำหรับการเข้าซื้อหุ้น GLOW วงเงิน 142,500 ล้านบาท ซึ่งการกู้เงินดังกล่าวมี 2 ทางเลือก ได้แก่ การกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ

นอกจากนี้ ในวันเดียวกันนั้น จะมีการเสนอที่ประชุมผู้ถือพิจารณาอนุมัติให้ GPSC ออกหุ้นกู้หรือกู้เงินระยะยาวจากสถาบันการเงินประมาณ 68,500 ล้านบาท เพื่อปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ระยะสั้นส่วนแรก จากนั้นในช่วงไตรมาส 1 ปีหน้า จะมีการประชุมผู้ถือหุ้นอีกครั้งเพื่อพิจารณาอนุมัติการเพิ่มทุนอีกไม่เกิน 74,000 ล้านบาท เพื่อนำไปชำระคืนหนี้ระยะสั้นที่เหลือทั้งหมด โดยอัตราดอกเบี้ยหลังปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ระยะสั้น จะเป็นระดับเดียวกับที่กลุ่มปตท.กู้ยืมได้

“หลังจากได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้เข้าซื้อหุ้น GLOW แล้ว เรากู้เงินระยะสั้นเพื่อจ่ายค่าหุ้น GLOW ในสัดส่วน 69% ที่ราคา 96.5 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นมูลค่า 97,560 ล้านบาท จากนั้นในเดือนต.ค.-พ.ย.เราจะทำข้อเสนอซื้อหุ้นส่วนที่เหลืออีก 31% โดยจะซื้อที่ราคา 96.5 บาทต่อหุ้นเช่นกัน ซึ่งสาเหตุที่เราสนใจโรงไฟฟ้าของ GLOW เพราะเราเข้าใจ และโรงไฟฟ้าก็อยู่ติดกับของเราเลย”นายเติมชัยกล่าว

เติมชัย บุนนาค

นายเติมชัย กล่าวว่า หลังปิดดีลซื้อ GLOW ในเดือนต.ค.นี้ GPSC จะส่งทีมเข้าไปดำเนินการจัดโครงสร้างการบริหารและทรัพย์สินของ 2 บริษัท เพื่อให้เกิดการส่งเสริมซึ่งกันและกัน (Synergy) โดยเฉพาะการใช้ทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งปรับแผนการดำเนินการลงทุนในอนาคตทั้งการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า และธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งจะสร้างการเติบโตให้กับ GPSC และ GLOW ในระยะต่อไป

นายเติมชัย ระบุว่า การเข้าซื้อ GLOW จะทำให้ GPSC มีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มจาก 1,940 MW เป็น 4,835 MW หรือมีกำลังผลิตอันดับ 3 ของประเทศ ขณะที่ GPSC จะมีสัดส่วนโรงไฟฟ้า SPP ซึ่งขายได้ทั้งไฟฟ้าและไอน้ำเป็นอันดับ 1 และมีเครือข่ายไฟฟ้ามีความมั่นคงและเสถียร ซึ่งดึงดูดเอกชนและอุตสาหกรรมทั้งในและนอกกลุ่มปตท.ที่ลงทุนในพื้นที่อีอีซี เข้ามาเป็นลูกค้าของทั้ง GLOW และ GPSC เพิ่มขึ้น เพราะมั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาไฟฟ้าดับหรือไฟฟ้าตก

“การเข้าซื้อ GLOW ยังทำให้ GPSC มีกระแสเงินสดมากพอที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจใหม่ ทั้งธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจโรงงานผลิตแบตเตอรี่ โดยเฉพาะธุรกิจโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ซึ่ง GPSC จะเปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนเฟสแรก กำลังผลิต 100 MWh ต่อปี วงเงินลงทุน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปีหน้า และจะลงทุนเต็มเฟสที่ 2,000 MWh ต่อปี ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาท”นายเติมชัยกล่าว

นายเติมชัย ยังระบุว่า โรงงานผลิตแบตเตอรี่ของ GPSC กำลังผลิตเต็มเฟส 2,000 MWh หรือ 2 GWh ต่อปี จะผลิตแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าแบตเตอรี่ของคู่แข่งบางเจ้าในตลาด ที่มีแผนลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่เต็มเฟส กำลังผลิต 50 GWh ต่อปี เนื่องจากโรงงานผลิตแบตเตอรี่ของ GPSC ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า รวมทั้งมีต้นทุนการผลิตที่แข่งขันได้แม้ว่าจะกำลังการผลิตน้อยกว่า

“เปรียบเทียบง่ายๆ แบตเตอรี่ที่โรงงาน GPSC จะมีประสิทธิภาพดีกว่าคู่แข่ง เพราะใช้เทคโนโลยีสูงกว่า ในขณะที่คู่แข่งใช้เทคโนโลยีเก่า แต่ใช้วิธีการผลิตมากๆเพื่อให้มีต้นทุนการผลิตที่แข่งขันได้”นายเติมชัยกล่าว

นายเติมชัย ย้ำว่า ราคาหุ้น GLOW ที่ GPSC ซื้อจากผู้ถือหุ้นเดิมและเตรียมทำข้อเสนอซื้อจากผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯที่ 96.5 บาทต่อหุ้น เป็นราคาที่มีความเหมาะสม และแม้ว่าโรงไฟฟ้าของ GLOW หลายแห่งจะสิ้นสุดสัญญาขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รวมทั้งมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้ต่อสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับทางกฟผ. ซึ่งบริษัทได้เตรียมแผนรองรับไว้แล้ว โดยจะมุ่งขายไฟฟ้าให้เอกชนในพื้นที่อีอีซีแทน

นางวนิดา บุญภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ การเงินและบัญชีองค์กร GPSC กล่าวว่า หลัง GPSC กู้เงินระยะสั้นเพื่อนำไปซื้อหุ้น GLOW จะทำให้หนี้สินต่อทุนของ GPSC เพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าเป็นการชั่วคราว และขั้นตอนต่อไปบริษัทจะออกหุ้นกู้ที่ได้อนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น 6.85 หมื่นล้านบาท จากนั้นเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติการเพิ่มทุนไตรมาสแรกปีหน้า เพื่อนำไปชำระคืนหนี้ระยะสั้นทั้งหมด ซึ่งจะทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนลดลงต่ำกว่า 1 เท่า

“หลังจากขั้นตอนการซื้อ GLOW เสร็จสิ้นลงแล้ว GPSC จะบันทึกรายได้และกำไรของ GLOW บางส่วนเข้ามาในช่วงไตรมาส 4 และบันทึกเต็มปีในปี 2562 ในขณะที่ GPSC จะมีกระแสเงินสดมากพอที่จะนำไปชำระคืนหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงนำไปใช้ลงทุนโครงการใหม่ โดยเฉพาะภาระค่าดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับที่เหมาะสม เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยจะใกล้เคียงกับดอกเบี้ยที่กลุ่มปตท.ได้รับ และคงไม่ใช่ 8,000 ล้านบาทต่อปีอย่างที่เป็นข่าวแน่นอน”นางวนิดากล่าว

นางวนิดา กล่าวว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าจะนำหุ้น GLOW ต้องออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯหรือไม่ โดยบริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาข้อดีข้อเสีย