บล.ASL ล้ำ New normal ไม่พึ่ง “มาร์เก็ตติ้ง” ค่าคอมมิชชั่นถูก

HoonSmart.com>>ประเทศไทยทยอยปลดล็อกดาวน์เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจหลักทรัพย์ก็เริ่มผ่อนคลายให้พนักงานกลับมาทำงานที่สำนักงานได้แล้ว หลังจากทำงานที่บ้านมานานหลายเดือน บางบริษัทมองเห็นโอกาสจากวิกฤตโควิด-19 ทบทวนการดำเนินธุรกิจใหม่ โดยมีแนวคิดที่จะยุบสาขา เพื่อลดค่าใช้จ่ายประจำ คาดว่าจะสามารถลดต้นทุนได้ถึง 3 แสนบาท/สาขา/เดือน กรณีสาขาตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เพราะ New Normal ไม่จำเป็นต้องมีสาขามากมาย เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ลูกค้าซื้อขายหุ้นได้ง่าย และพนักงานไม่มีความจำเป็นต้องเข้ามาทำงานที่บริษัทอีกแล้ว ในส่วนบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเอสแอล(ASL) โบรกเกอร์เบอร์ 50 ได้วิ่งนำหน้ามาตั้งไกลแล้ว

HoonSmart.com ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “ชาญชัย กุลถาวรากร” ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บล.เอเอสแอล ซึ่งใช้ประสบการณ์ในวงการหลักทรัพย์มานานกว่า 40 ปี มาวางโมเดลธุรกิจเป็นบริษัทหลักทรัพย์ออนไลน์ และเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา  มีการลงทุนด้านระบบและลงทุนเรื่องคน แต่ไม่มีผู้แนะนำการลงทุน (IC) หรือที่เรียกกันติดปากว่า”มาร์เก็ตติ้ง” และคิดค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์หรือคอมมิชชั่นที่ต่ำและชัดเจน คือ ซื้อขายในวงเงิน 1 ล้านบาท จ่าย 800 บาท/วัน

“ผมไม่กล้าพูดว่าเราเป็นโบรกเกอร์ออนไลน์เจ้าแรกหรือไม่ แต่บล.เอเอสแอล เป็นออนไลน์ที่ไม่ใช้มาร์เก็ตติ้ง ไม่มีเซลล์เป็นคนแรก” 

ไอเดียนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

ผมคลุกคลีอยู่ในวงการหลักทรัพย์มานาน  อยู่ที่ บล. แอ๊ดคินซัน มานานกว่า 20 ปี ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ หลังจากนั้นมาบริหาร บล.ไอบี และ บล.เคทีบี ก่อนที่จะตัดสินใจมาเปิดบล.เอเอสแอล  ได้เห็นการซื้อตัวมาร์เก็ตติ้งมานาน เมื่อตัดสินใจว่าจะลงทุนเปิดบริษัทหลักทรัพย์เอง ก็ไม่ต้องการที่จะทะเลาะ และไม่ต้องกลัวว่ามาร์เก็ตติงจะลาออก จึงเน้นการให้บริการที่ดีผ่านระบบการซื้อขายและบทวิเคราะห์หลักทรัพย์  ลูกค้าได้รับความสะดวกในการส่งคำสั่งซื้อขาย สามารถทำรายการและรับบริการผ่านคอมพิวเตอร์พีซีและโน้ตบุ๊ค รวมถึงแทปเล็ต ซึ่งจะมีข้อมูลต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุน เช่น Settrade, กราฟ, ข่าวสาร

“ลูกค้าคนรุ่นใหม่นิยมคีย์คำสั่งซื้อสั่งขายเอง แต่ยังต้องการบริการด้านงานวิเคราะห์และวิจัย บริษัทสามารถตอบสนองความต้องการได้ใช้ระบบ chat room กับฝ่ายวิจัยโดยตรง มีอีเมล์ มีไลน์ ให้บริการลูกค้าทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน”

ผมยังคิดไปลึกและไกลกว่านั้น คือ การคิดค่าคอมมิชชั่น นักลงทุนไม่ต้องมาต่อรองกับบริษัท  บล.เอเอสแอลกำหนดค่าคอมมิชชั่นชัดเจน คือ ซื้อขายในวงเงิน 1 ล้านบาท จ่าย 800 บาท/วัน อัตรานี้ทุกคนอยู่ได้ บล.มีกำไร นักลงทุนไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ ได้รับสิทธินี้เท่าเทียมกัน ค่าบริการอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยสำหรับกลุ่มนักลงทุนขนาดกลางและขนาดเล็กที่ตลาดรวมคิดค่าคอมมิชชั่นในช่วง 0.15-0.25% ของมูลค่าการซื้อขาย

บริษัทคิดค่าคอมมิชชั่นขนาดนี้ได้ด้วยข้อได้เปรียบด้านต้นทุน เพราะไม่มีการลงทุนตั้งห้องค้าขนาดใหญ่ และมีรายจ่ายค่าจ้างพนักงานค่อนข้างต่ำ  ปัจจุบันมีพนักงานเพียง 40 คน ไม่มีนโยบายซื้อตัวพนักงานจากโบรกเกอร์อื่น โดยเฉพาะมาร์เก็ตติ้ง ทำให้มีกำไรตั้งแต่ปีที่ 2 ของการดำเนินงาน และมีเงินลงทุน สำหรับพัฒนาระบบซอฟท์แวร์ มีนักวิเคราะห์ที่มีคุณภาพ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ บริษัทอยู่ได้ เพราะรายย่อยเทรดหุ้น ไม่เหมือนโบรกเกอร์บางแห่งที่มีลูกค้ารายใหญ่จำนวนมาก จะหยุดการลงทุน

“โมเดลโบรกเกอร์ออนไลน์” เข้าตาผู้บริหารธนาคารออมสิน เลือกบล.เอเอสแอล เป็นพันธมิตร เข้ามาร่วมถือหุ้น 25% ซึ่งช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้กับบริษัท และขยายฐานลูกค้ากว้างยิ่งขึ้น   โดยธนาคารออมสินมีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศไทย  ฐานลููกค้า 22 ล้านบัญชี สามารถมาเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ การทำธุรกรรมต่างๆ นอกจากนี้ธนาคารออมสินยังมีพอร์ตลงทุนในหลักทรัพย์ด้วย

ขณะเดียวกันบล.เอเอสแอลก็สามารถตอบโจทย์ธุรกิจของธนาคารออมสิน ในการให้ความรู้เรื่องการลงทุนให้แก่ลูกค้า เพิ่มช่องทางสร้างรายได้หลากหลายจากธุรกิจหลักทรัพย์ และมีการต่อยอดธุรกิจใหม่ให้ครบวงจร และสนับสนุนการเป็น Digital Bankingได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในอนาคต บล.เอเอสแอลยังต้องปรับตัวรองรับกับความต้องการที่มากขึ้น ต้องยื่นขอใบอนุญาตในการทำธุรกรรมให้ครบวงจร  หลังจากให้บริการการซื้อขายหลักทรัพย์แล้ว เริ่มขายตราสารหนี้ บริการสินเชื่อในการซื้อหลักทรัพย์(มาร์จิ้น) และธุรกิจยืมและให้ยืมหลักทรพย์(SBL) รอจังหวะในการขยายธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ส่วนธุรกิจวาณิชธนกิจ(IB) เป็นแผนงานในอนาคต ซึ่งจะเน้นการเป็นผู้เสนอขายหลักทรัพย์ เน้นความร่วมมือกับที่ปรึกษาทางการเงินอื่น

นอกจากนี้ยังวางแผนขยายฐานลูกค้าให้กว้างยิ่งขึ้น จากที่วางตัวในการบริการลูกค้าระดับกลางลงข้างล่าง เริ่มขยายขึ้นข้างบน และลูกค้าสถาบัน พร้อมพัฒนาระบบงานหลังบ้าน(แบ็กออฟฟิศ) เพิ่มหน่วยงานบริหารความเสี่ยง เราจะไม่หยุดลงทุนในการพัฒนาระบบและพัฒนาคน เพื่อสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว