ความจริงความคิด : แก้หนี้นอกระบบด้วยในระบบ

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

“หนี้นอกระบบ” หมายถึง หนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินกันเองในระหว่างประชาชนด้วยกันโดยไม่ได้กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน เพราะสะดวกและกู้ได้ง่าย ไม่เหมือนการกู้เงินจากสถาบันการเงินที่ยุ่งยากกว่า แต่ก็แลกมาด้วยดอกเบี้ยที่แสนโหดอยู่ที่ร้อยละ 5-20 ต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 60-240 ต่อปี เคยเจอบางเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1 ต่อวัน หรือ เท่ากับร้อยละ 365 ต่อปีเลยทีเดียว ในขณะที่หากกู้กับสถาบันการเงินดอกเบี้ยสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 28 ต่อปี

ส่วนใหญ่คนที่ลูกหนี้มักจะขอกู้นอกระบบแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

1.คนรู้จัก เช่น เพื่อนฝูง ญาติ
2.คนที่ทำอาชีพปล่อยกู้นอกระบบจริงๆ อย่างเช่น เงินกู้ตามเสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์ สะพานลอย ฯลฯ

ลำดับการเป็นหนี้นอกระบบ ก็มักจะเริ่มจากการยืมเพื่อนฝูง ญาติพี่น้องก่อน แต่เพราะปัจจุบันการให้เพื่อนหรือคนรู้จักยืมเงิน มักจะไม่ได้เงินคืน เพราะคนขอยืมมักจะมั่นใจว่าเพื่อนคงไม่มาทำร้าย หรือ ดำเนินคดีทางกฎหมาย จนทำให้การยืมเงินแล้วไม่คืนกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว ซึ่งน่ากลัวมากๆ (เหมือนที่เคยมีผลสำรวจที่มีคนส่วนหนึ่งมองว่า คอรัปชั่นยอมรับได้ ถ้าบริหารประเทศเก่ง) ตอนหลังจึงไม่ค่อยมีใครให้ใครยืมเงินกันอีกแล้ว เมื่อยืมเพื่อนไม่ได้ ก็จะเริ่มไปหาเจ้าหนี้นอกระบบอาชีพ เจอดอกเบี้ยสูงกันไป

เมื่อเจอดอกเบี้ยสูง สุดท้ายหลายคนก็จะหนีหนี้ บางคนหัวหมอหน่อยก็จะอ้างกฎหมาย ก็ต้องทำความเข้าใจกันก่อนนะว่าการให้กู้-ยืมเงินนั้นไม่ผิดกฎหมาย แต่การ “เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด” ต่างหากที่ผิดกฎหมาย

บุคคลใดให้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ มีความผิดฐานเรียก ดอกเบี้ยเกินอัตรา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้กฎหมายบัญญัติไว้ว่าการเรียกเก็บดอกเบี้ยต้องไม่เกินร้อยละ 15 บาท/ปี หรือ 1.25 บาท/เดือน ดังนั้น การกู้ยืมเงินโดยตกลงคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยนี้ไม่ชอบด้วย กฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิดและมีโทษอาญา ดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะทั้งหมด ไม่ใช่เป็นโมฆะเฉพาะดอกเบี้ยส่วนที่เกินร้อยละ 15 ต่อปี

แล้วอย่างนี้แปลว่าอะไร แปลว่า ถ้าเราพลาดไปกู้หนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยแพงกว่า15%/ปีแล้ว ในทางกฎหมายภาระหนี้ยังมีอยู่ แต่ดอกเบี้ยจะถูกเป็นโมฆะทันทีตั้งแต่เริ่มกู้ แปลว่าเจ้าหนี้ไม่สามารถคิดดอกเบี้ยเราได้ เราจ่ายแค่เงินต้นก็พอ ยิ่งถ้าเจ้าหนี้ฟ้อง ศาลจะดูก่อนเลยคิดดอกเบี้ยเท่าไหร่ เกินกว่า 15%/ปีมั๊ย ถ้าเกิน ดอกเบี้ยจะถูกเป็นโมฆะ เจ้าหนี้ก็จะได้คืนเฉพาะเงินต้นตามในสัญญา และ/หรือดอกเบี้ยผิดนัดชำระ เพราะหากลูกหนี้มีหลักฐานว่าเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเกินไปเยอะแล้ว ศาลก็อาจจะให้จ่ายคืนเฉพาะเงินต้นตัวอย่างเช่น เป็นหนี้นอกระบบ 50,000 บาท ดอกเบี้ย 5%/เดือน จ่ายไป 10,000 บาท เป็นเงินต้น 7,500 บาท ดอกเบี้ย 2,500 บาท เนื่องจากดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

ดังนั้นศาลจะตัดสินว่าดอกเบี้ยจะถูกเป็นโมฆะ เงินที่เราจ่าย 10,000 บาท เป็นการจ่ายเงินต้นทั้งหมด ดังนั้นเราเหลือหนี้ที่ต้องจ่ายอีกแค่ 40,000 บาทเท่านั้น ดังนั้นคนที่เป็นลูกหนี้ไม่ว่าจะในระบบหรือนอกระบบที่ชำระดอกเบี้ยหนี้ที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด ควรที่จะเก็บหลักฐานการชำระดอกเบี้ยไว้ เพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานในการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนนะ แต่ระวัง เจ้าหนี้ก็มีเทคนิคเช่นกัน เช่น สัญญาเงินกู้ อาจปล่อยช่องอัตราดอกเบี้ยว่างไว้ แล้วคุยกันปากเปล่า เวลานำเรื่องฟ้องศาลก็จะกรอกอัตราที่ถูกต้องลงไป เป็นต้น

เมื่อกฎหมายคุ้มครองเราขนาดนี้ เบี้ยวหนี้นอกระบบเลยดีมั๊ย!!!! อย่าดีกว่า!! ถ้าเจ้าหนี้เราคือเพื่อน ก็ไม่ควรเบี้ยวหนี้ เค้าให้เรายืมเพราะไว้ใจ ถ้าเจ้าหนี้คือเจ้าหนี้นอกระบบอาชีพ ก็ไม่ควรเบี้ยวหนี้ อาจมีอันตรายได้ แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองก็อย่าเสี่ยงดีกว่า

มาตรา 11 พรบ.การทวงถามหนี้ ระบุว่า “เจ้าหนี้ห้ามทวงถามในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรที่นำไปสู่ความเสียหายต่อร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น พร้อมทั้งห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้ามติดต่อลูกหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อถึงการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน”

วิธีที่ดีที่สุด คือ อย่าไปเป็นหนี้นอกระบบ กันไว้ดีกว่าแก้ แต่เมื่อเป็นหนี้นอกระบบแล้ว ต้องการแก้หนี้ วิธีการแก้หนี้พื้นฐานก็เหมือนกับการแก้หนี้ทั่วไป คือ

ทำบัญชีหนี้สิน แบ่งแยกประเภทหนี้ จำนวนหนี้ แยกประเภทหนี้ เป็นกลุ่มแบงค์ นอนแบงค์ หนี้นอกระบบ จดรายละเอียดให้ครบ เพื่อวางแผนแก้หนี้

ทำบัญชีรายรับรายจ่ายของเราเองตลอดเดือน เพื่อดูว่าจะบริหารรายได้และค่าใช้จ่ายได้อย่างไร เรียกวิธีนี้ว่า ใช้ตัวแก้หนี้

ทำบัญชีทรัพย์สินเพื่อดูว่ามีอะไรพอจะขายได้ ถ้าขายน่าจะขายได้เท่าไหร่ จะได้ขายเอาเงินมาใช้หนี้ วิธีนี้เรียก ใช้ทรัพย์สินแก้หนี้

วิธีแก้หนี้นอกระบบวิธีหนึ่ง คือ การใช้หนี้แก้หนี้ โดยเปลี่ยนหนี้นอกระบบให้เป็นหนี้ในระบบ ที่น่าสนใจ คือ “สินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน เพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ” ของธนาคารออมสินที่ให้กู้ตามมูลหนี้นอกระบบจริง และตามความสามารถในการชำระหนี้ แต่ไม่เกินรายละ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือ อาจจะใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ซึ่งแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงพอสมควร แต่ก็ยังถูกกว่าดอกเบี้ยหนี้นอกระบบเยอะ และการเป็นหนี้ในระบบยังไงก็ดีกว่าเป็นหนี้นอกระบบแน่นอน แต่จะใช้วิธีนี้ได้เราต้องมีเครดิตหรือประวัติการชำระหนี้กับสถาบันการเงินที่ดีอยู่บ้าง แต่ถ้าเรามีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น บ้าน รถ ฯลฯ ก็กู้แบบใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันจะดีกว่า เพราะได้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง ช่วยให้ภาระต่างๆ เบาลงได้เยอะเลยทีเดียว