ตลท.เผยบจ. 76% กำไรดำเนินงาน Q1/63 – “บรรจุภัณฑ์-เกษตร” โตโดดเด่นสวนโควิด

HoonSmart.com>> ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 พบบริษัทจดทะเบียน 76% จำนวน 374 บริษัท กำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส 1/63 ธุรกิจ “บรรจุภัณฑ์-การเกษตร” เติบโตโดดเด่น ด้าน “ธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์-ท่องเที่ยวและสันทนาการ” หดตัวรุนแรง เชื่อหากธุรกิจปรับตัวรอบ new normal ได้ดี สกัดไม่ให้ระบาดซ้ำ ผลงานไตรมาส 2/63 น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของวิกฤต

ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ที่เริ่มส่งผลกระทบในวงกว้างต่อทุกภาคส่วนในช่วงปลายไตรมาส 1/2563 แต่บริษัทจดทะเบียน 374 บริษัทยังคงมีกำไรจากการดำเนินงาน (EBIT) ในไตรมาส 1/2563 หรือคิดเป็น 76% ของ 494 บริษัทจดทะเบียนที่รายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2563 และสามารถเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนได้ แม้ว่าจำนวนบริษัทที่มีกำไรจากการดำเนินงานจะลดลงจาก 399 บริษัทในไตรมาส 1/2562 แต่ยังคงมีบริษัทจำนวนมากที่มีกำไรเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือพลิกจากขาดทุนเป็นกำไรในไตรมาส 1/2563

วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของกำไรจากการดำเนินงานโดยแจกแจงจำนวนบริษัทโดยจำแนกตามขนาดของบริษัทเพื่อให้เห็นผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ในมุมกว้างว่ามีผลกระทบต่อจำนวนบริษัทมากน้อยเพียงใด ซึ่งแตกต่างจากการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงขนาดของผลกำไรเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีการวิเคราะห์และเผยแพร่ผ่านสื่อไปแล้วเป็นจำนวนมาก ในการศึกษาเปรียบเทียบนี้ได้จำแนกตามขนาดของบริษัทจดทะเบียนเพื่อให้เห็นถึงศักยภาพของบริษัทขนาดกลาง หรือ Non-SET100 ให้ชัดเจนขึ้น

ผลการศึกษาสรุปได้ว่ามีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ทั้งในเชิงบวกและลบ โดยอาจมีบางธุรกิจที่ให้ผลบวกหรือลบแตกต่างกันในบริษัทที่มีขนาดแตกต่างกัน แต่มี 4 หมวดอุตสาหกรรมจากทั้งหมด 26 หมวดอุตสาหกรรมที่ผลการดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งบริษัทขนาดกลาง และบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งแสดงให้เห็นว่าได้รับผลกระทบในทิศทางที่ชัดเจนทั้งอุตสาหกรรมดังนี้

บริษัทในกลุ่ม SET100 จำนวน 93 บริษัทรายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2563 และสามารถเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้มี 82 บริษัทที่มีกำไรจากการดำเนินงานโดยบริษัทที่กำไรลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมากกว่าจำนวนบริษัทที่มีกำไรเพิ่มขึ้น ในขณะที่จำนวนบริษัทที่พลิกจากกำไรเป็นขาดทุนมากกว่าจำนวนบริษัทที่พลิกจากขาดทุนเป็นกำไร

ในภาพรวม การเปลี่ยนแปลงของผลการดำเนินงานในบริษัทขนาดใหญ่สอดคล้องกับบริษัทขนาดกลางในกลุ่ม Non-SET100 ซึ่งมีจำนวน 401 บริษัทที่รายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2563 และสามารถเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้มี 292 บริษัทที่มีกำไรจากการดำเนินงาน และมี 40 บริษัทที่สามารถพลิกจากผลขาดทุนในไตรมาส 1/2562 เป็นกำไรในไตรมาส 1/2563 ในขณะที่อีก 125 บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในทางกลับกัน บริษัทในกลุ่ม Non-SET100 จำนวน 109 บริษัทมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานในไตรมาส 1/2563 ซึ่งในจำนวนนี้มี 56 บริษัทที่พลิกจากกำไรในไตรมาส 1/2562 เป็นขาดทุนในไตรมาส 1/2563

ในกลุ่ม SET100 มี 7 หมวดอุตสาหกรรมที่บริษัทส่วนใหญ่หรือมากกว่า 50% ของบริษัทในกลุ่มมีกำไรในไตรมาส 1/2563 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือพลิกจากขาดทุนเป็นกำไรในไตรมาสนี้ ได้แก่ ธุรกิจการเกษตร บรรจุภัณฑ์ ประกันภัยและประกันชีวิต เงินทุนและหลักทรัพย์ อาหารและเครื่องดื่ม การแพทย์ และพาณิชย์ โดยกลุ่มธุรกิจการเกษตร และกลุ่มบรรจุภัณฑ์มีความสามารถในการทำกำไรที่โดดเด่นเช่นเดียวกับบริษัทขนาดกลาง ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ได้รับผลดีจากความต้องการอาหารและเวชภัณฑ์ และบริการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงการระบาดของ COVID-19

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาศักยภาพของบริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่ม SET100 ท่ามกลาง COVID-19 รายหมวดอุตสาหกรรมพบว่า มีหมวดอุตสาหกรรมที่ผลการดำเนินงานหดตัวลงจากปีก่อนทุกบริษัท (พลิกจากกำไรเป็นขาดทุนหรือกำไรลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน) เหมือนกับบริษัทขนาดกลาง ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยวและสันทนาการ ที่กำไรลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนทุกบริษัท และธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ที่มีจำนวนบริษัทประสบภาวะขาดทุนมากกว่าหมวดอุตสาหกรรมอื่น

การเปลี่ยนแปลงของผลการดำเนินงานของบริษัทขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับบริษัทขนาดกลางในกลุ่ม Non-SET100 โดยธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์มีสัดส่วนจำนวนบริษัทที่มีกำไรต่ำกว่าธุรกิจอื่น และต่ำกว่า 50% ของจำนวนบริษัททั้งหมดในกลุ่ม แต่ยังมีบางบริษัทในธุรกิจนี้ (5.3%) พลิกจากขาดทุนในไตรมาส 1/2562 เป็นกำไรในไตรมาส 1/2563 และ บางบริษัท (10.5%) ที่ผลขาดทุนในไตรมาส 1/2563 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์อาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการวิกฤต COVID-19 แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคซึ่งเป็นผลต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 และเป็นธุรกิจเดียวที่ผลการดำเนินงานหดตัวลงจากปีก่อนทุกบริษัทได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยวและสันทนาการ แม้สัดส่วนจำนวนบริษัท 62% ยังคงมีกำไร แต่กำไรในไตรมาส 1/2563 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และส่วนที่เหลือมีผลการดำเนินงานพลิกจากกำไรในไตรมาส 1/2562 เป็นขาดทุนในไตรมาส 1/2563

ในทางกลับกัน สำหรับบริษัทในกลุ่ม Non-SET100 มี 8 หมวดอุตสาหกรรมที่บริษัทส่วนใหญ่หรือมากกว่า 50% ของบริษัทในกลุ่มมีกำไรในไตรมาส 1/2563 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือพลิกจากขาดทุนเป็นกำไรในไตรมาสนี้ ได้แก่ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ธนาคาร ธุรกิจการเกษตร ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ขนส่งและโลจิสติกส์ และบริการรับเหมาก่อสร้าง โดย 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีจำนวนบริษัทสามารถทำกำไรได้อย่างโดดเด่นได้แก่ กลุ่มบรรจุภัณฑ์ ธนาคาร และธุรกิจการเกษตร โดย 78% 67% และ 60% ของจำนวนบริษัทในกลุ่มมีกำไรในไตรมาส 1/2563 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือพลิกจากขาดทุนเป็นกำไรในไตรมาสนี้

เพื่อให้เห็นระดับความรุนแรงของวิกฤต COVID-19 ที่กระทบต่อธุรกิจจึงแสดงขนาดของกำไรที่เปลี่ยนแปลงไปในไตรมาส 1/2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแสดงอัตราการเปลี่ยนแปลงของกำไรจากการดำเนินงานรายอุตสาหกรรมเฉลี่ย ซึ่งในบางหมวดอุตสาหกรรมอาจมีความเบี่ยงเบนจากบริษัทขนาดใหญ่ที่มีกำไรมาก และมีอิทธิพลต่อค่าเฉลี่ยของทั้งหมวดอุตสาหกรรม

ภาพรวมธุรกิจขนาดใหญ่ในกลุ่ม SET100 มีกำไรจากการดำเนินงานลดลง 52.3% ซึ่งเป็นอัตราที่มากกว่าธุรกิจ Non-SET100 ที่กำไรลดลง 28.9% เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่ในหลายอุตสาหกรรมมีอัตราการปรับตัวลดลงของกำไรมากกว่าบริษัทขนาดกลางมาก เช่น กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค บริการรับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และธุรกิจการเกษตร มีกำไรเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนทั้งในธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่

ในขณะที่ผลการดำเนินงานเฉลี่ยของธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์มีผลขาดทุนทั้งบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับธุรกิจท่องเที่ยวและสันทนาการที่ผลกำไรเฉลี่ยลดลงจากปีก่อนมากกว่า 70% ในบริษัททั้งสองขนาด ซึ่งให้ผลสอดคล้องกับภาพกว้างที่วิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบต่อบริษัทจำนวนมากใน 4 ธุรกิจดังกล่าวทั้งในด้านบวกและด้านลบ

ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2563 อาจยังไม่สะท้อนผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ที่ชัดเจนนัก เนื่องจากเป็นช่วงแรกของการระบาดและการดำเนินมาตรการต่างๆ ของรัฐ แต่พอทำให้เห็นแนวโน้มของผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2563 ที่วิกฤตส่งผลกระทบในวงกว้างและรุนแรงขึ้นทั้งในเชิงบวกและลบต่อธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม หากธุรกิจมีการปรับตัวรองรับ new normal ได้ดีและมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อป้องกันการระบาดซ้ำในประเทศไทย อาจทำให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2563 เป็นจุดต่ำสุดของวิกฤตครั้งนี้