MFEC ตั้งงบลงทุน 100 ล้านบาท เดินหน้า 6 ธุรกิจใหม่ มั่นใจสร้างรายได้และกำไรในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ยอมรับธุรกิจเดิมยังแข่งขันรุนแรง กดดันรายได้ปีนี้ใกล้เคียงปีก่อน 3 พันล้านบาท
นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี (MFEC) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการของ MFEC ปีนี้น่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่ก่อน ที่มีรายได้ 3,013 ล้านบาท และมีกำไร 153 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทอยู่ระหว่างปรับโมเดลทางธุรกิจ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และที่ผ่านมาบริษัทและบริษัทย่อยได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจใหม่ (Reinvestment) 6 ธุรกิจ ซึ่งคาดว่าธุรกิจใหม่ดังกล่าวจะเริ่มสร้างรายได้และกำไรให้ MFC ในอีก 1-2 ปีจากนี้
“ปีนี้เราไม่ได้ความสำคัญกับการทำกำไรระยะสั้นนัก แต่เน้นการ Reinvestment ที่จะสร้างอนาคตให้ MFEC โดยเฉพาะการสร้างธุรกิจและแพลทฟอร์มที่เกี่ยวข้องหรือสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และการสร้างแพลทฟอร์มในการวิเคราะห์และจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ในโลกโซเชียล (social network data) เพื่อสร้างรายได้ให้ธุรกิจของลูกค้า โดยปีนี้เราเตรียมเงินทุนสำหรับธุรกิจเหล่านี้ 100 ล้านบาท” นายศิริวัฒน์กล่าว
นายศิริวัฒน์ ระบุว่า ปัจจุบันธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้ MFEC ยังคงเป็นธุรกิจพัฒนาและวางระบบไอที เช่น ติดตั้งและวางระบบเซิฟเวอร์ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์เครือข่ายต่างๆ ธุรกิจการบำรุงรักษาระบบไอที และธุรกิจให้คำปรึกษาและพัฒนางานให้ลูกค้า แต่รายได้และกำไรของธุรกิจเหล่านี้ลดลงทุกปี เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งนี้ MFEC ยังคงรักษารายได้จากธุรกิจเหล่านี้เอาไว้ ควบคู่กับการสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่โดยทีมพัฒนาแพลทฟอร์มและซอฟต์แวร์ที่เป็นคนรุ่นใหม่
สำหรับธุรกิจใหม่ที่บริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาและลงทุน ได้แก่ 1.ธุรกิจให้บริการระบบคลาวด์แบบครบวงจร (Cloud Services) 2.ธุรกิจให้บริการด้านจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลจากโซเชียลมีเดียให้กับลูกค้าเพื่อนำไปต่อยอดในการสร้างรายได้ (Digital Information Services) ซึ่ง MFEC ได้หารือกับลูกค้ากว่า 10 ราย เช่น มติชน (MATI) เวิร์คพอยท์ (WORK) ,และเอฟเอ็น แฟคตอรี่ (FN) เกี่ยวกับในการนำข้อมูลจากโซเชียลมีเดียไปใช้เพิ่มช่องทางในการหารายได้
3.ธุรกิจให้บริการด้านการแก้ปัญหาให้ลูกค้าผ่าน Mobile Application หรือการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ (Digital Enterprise Solutions) 4ธุรกิจพัฒนาแอปพลิเคชันหรือแพลทฟอร์มต่างๆร่วมกับลูกค้าหรือพันธมิตร (Application) 5ธุรกิจให้บริการด้านระบบรักษาความปลอดภัยในการใช้งานแพลทฟอร์มต่างๆ การใช้งานแอปพลิเคชัน และระบบเซิฟเวอร์ (Cyber Security Services)
และ6.ธุรกิจพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆหรือระบบที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป (Digital Transformation) เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน รวมถึงการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และMachine Learning เป็นต้น
“รายได้จากธุรกิจใหม่จะสร้างกำไรให้ MFEC อย่างยั่งยืน เพราะเราสร้างตลาดขึ้นมาเอง ในขณะที่บริษัทย่อย ซึ่งลงทุนลงทุนในธุรกิจเหล่านี้จะสร้างความมั่งคั่งให้ MFEC หากมีการนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ เช่น บริษัท อังสตรอม โซลูชั่น ซึ่งให้บริการและพัฒนาระบบซื้อขายหลักทรัพย์แก่โบรกเกอร์ 4-5 ราย และบริษัท พรอมท์นาว ซึ่งให้บริการระบบทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือ (Mobile Financial Service) ที่มีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาด MAI ใน 1-2 ปีจากนี้” นายศิริวัฒน์กล่าว
นอกจากนี้ MFEC ยังได้ร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆที่ตอบโจทย์การทำธุรกิจของ รวมถึงสร้างสตาร์สอัพใหม่ โดยเฉพาะหากบุคลากรของบริษัทจะลาออกเพื่อไปลงทุนสตาร์สอัพของตัวเอง ทาง MFEC จะยื่นข้อเสนอในการสนับสนุนเงินทุนและเข้าร่วมถือหุ้น เนื่องจากที่ผ่านมาบุคลากรเก่งๆและมีประสบการณ์เป็น 10 ปีของ MFEC ได้ลาออกไปตั้งสตาร์สอัพของตัวเอง แต่ส่วนใหญ่ล้มเหลว เพราะไม่มีเงินทุนและไม่มีคอนเน็คชั่น